รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
(Asia Pacific Parliamentary Forum – APPF) ครั้งที่ 30

“บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
: Parliaments and the Post-COVID-19
Sustainable Development"
ระหว่างวันที่ 26 – 29 ตุลาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร
 
 
ภูมิหลังการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Parliamentary Forum – APPF)
                การประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Parliamentary Forum – APPF) เป็นองค์กรการประชุมของสมาชิกรัฐสภาในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของนายยาซูฮิโร นากาโซเน่ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วมกับสมาชิกรัฐสภาของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจำนวนหนึ่งรวมทั้งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกรัฐสภาได้หารือร่วมกันในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของภูมิภาคในยุคหลังสงครามเย็น และที่เป็นผลจากการเติบโตและการรวมตัวทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของพลเมือง และสันติภาพภายในภูมิภาค
                ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2534 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง APPF ได้ทาบทามให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งของ APPF ด้วย เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสาคัญทั้งในอาเซียนและองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (APEC) ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2534 รัฐสภาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้ส่งคณะผู้แทนระดับสูงเดินทางไปร่วมการประชุมเตรียมการก่อตั้ง APPF ณ เครือรัฐออสเตรเลีย โดยประเทศไทยได้ร่วมลงนามในปฏิญญาโตเกียว (Tokyo Declaration) เพื่อการจัดตั้ง APPF อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2536
 
สมาชิก (Members)
                ปัจจุบัน APPF มีประเทศสมาชิก 28 ประเทศ จากอนุภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน โคลัมเบีย เอกวาดอร์ คอสตาริกา ฟิจิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ลาว มาเลเซีย หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก ไมโครนีเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกล่าสุดในการประชุม APPF ครั้งที่ 29 เมื่อเดือนธันวาคม 2564
โครงสร้าง
                APPF เป็นเวทีทั้งสำหรับสมาชิกรัฐสภาที่สนใจในประเด็นต่าง ๆ ของการประชุมไม่ว่าจะเป็นการส่วนตัวหรือในฐานะตัวแทนรัฐสภาของประเทศ มีโครงสร้างองค์กรอย่างหลวม ๆ และไม่เป็นทางการมากนัก ดังนี้
                ประธาน (President)
                ตำแหน่งประธานของ APPF จะเปลี่ยนไปตามประเทศเจ้าภาพของการประชุมประจำปี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี นับตั้งแต่สิ้นสุดการประชุมประจำปีครั้งก่อนหน้า ไปจนถึงสิ้นสุดการประชุมประจำปีของปีที่จัดประชุม นอกจากนั้น ประธานฯ ยังมีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการบริหารอีกตำแหน่งด้วย
                คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee)
                คณะกรรมการบริหารของ APPF ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมประจำปีจะประกอบด้วย ประธาน APPF เป็นประธานคณะกรรมการฯ สมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนจากประเทศที่ทำหน้าที่เจ้าภาพปัจจุบัน ตัวแทนจากประเทศที่จะทำหน้าที่จัดการประชุม APPF ครั้งต่อไป ประเทศเจ้าภาพครั้งก่อนหน้า และสมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนจากอนุภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก (อนุภูมิภาคละ 2 ประเทศ)
                ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แบ่งออกเป็นอนุภูมิภาคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (5 ประเทศ) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย และรัสเซีย
2. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (9 ประเทศ) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม
3. โอเชียเนีย/หมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ตะวันตก และตอนใต้ (6 ประเทศ) ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ ไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะมาร์แชลล์
4. อเมริกา (8 ประเทศ) ได้แก่ แคนาดา ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา
                ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ในการเสนอคำแนะนำต่อที่ประชุมประจำปีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหรือนโยบายการจัดการของ APPF พิจารณาร่างระเบียบวาระและกำหนดการของการประชุมประจำปี ให้คำปรึกษาแก่ประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุม และพิจารณาการรับสมาชิกใหม่ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อ    ที่ประชุมประจำปีในการรับสมาชิกใหม่
                กรรมการบริหารที่มาจากอนุภูมิภาคมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยทุก 2 ปีจะมีการเลือกสมาชิกใหม่จำนวนกึ่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละอนุภูมิภาคเป็นผู้กำหนดวิธีการเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการบริหารที่เป็นตัวแทนของตน สำหรับกรรมการบริหารจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเชีย และเวียดนาม โดยตามหลักการเป็นการเวียนตามลำดับตัวอักษร (ในระหว่างการประชุม APPF ครั้งที่ 21 ปี 2556 ณ เมืองวลาดิวอสต็อก สหพันธรัฐรัสเซีย มีการประชุมกลุ่มอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้น และที่ประชุมฯ มีมติให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร โดยเวียนตามลำดับตัวอักษร ซึ่งจากการประชุมครั้งนั้น ที่ประชุมฯ มีมติให้กัมพูชาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารในฐานะประเทศแรกตามลำดับตัวอักษร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และอินโดนีเซียดำรงตำแหน่งต่อเพื่อรักษาความต่อเนื่องโดยมีวาระ 2 ปี อย่างไรก็ดี ในการประชุม APPF ครั้งที่ 29 เวียดนามได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารแทนลาว เนื่องจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ในฐานะประเทศลำดับก่อนหน้าปฏิเสธรับตำแหน่ง ขณะที่ไทยดำรงตำแหน่งในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารอยู่แล้ว ซึ่งได้เสนอให้เวียดนามเลื่อนมารับตำแหน่งและไทยจะขอรับตำแหน่งในลำดับถัดไป)
                 และในระหว่างการประชุม APPF ครั้งที่ 28 ณ เครือรัฐออสเตรเลีย ได้มีการประชุมกลุ่มอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีมติให้จัดการประชุมกลุ่มอนุภูมิภาคทุกปี โดยจะจัดประชุมล่วงหน้าก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อที่จะนำประเด็นเข้าผลักดันในคณะกรรมการบริหารได้ และหากเป็นไปได้จัดให้มีการประชุมคู่ขนานในเวทีการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศอื่น ๆ โดยอยู่ในดุลพินิจของประธานกลุ่มอนุภูมิภาค   ในขณะนั้น รวมถึงมีการจัดทำข้อกำหนด (Terms of Reference – TOR) ซึ่งระบุถึงการนัดประชุม การหมุนเวียนและระยะเวลาดำรงตำแหน่งการเป็นประธาน และการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APPF ทั้งนี้ ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมกลุ่มอนุภูมิภาค คือ ประเทศสมาชิกในกลุ่ม 9 ประเทศ และบรูไนดารุสซาลามในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ในขณะนั้น โดยให้ประเทศตัวแทนกลุ่มอนุภูมิภาคฯ ในคณะกรรมการบริหารที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด ทำหน้าที่ประธานการประชุมของกลุ่ม และจะหมุนเวียนทุก 2 ปี ซึ่งในการประชุม APPF ครั้งที่ 30 อินโดนีเซียจะทำหน้าที่ประธานการประชุมของกลุ่มอนุภูมิภาคฯ
                คณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม (Drafting Committee)
                คณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วมได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมประจำปี ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย ผู้แทนจากรัฐสภาสมาชิกที่เสนอร่างข้อมติ โดยมีประธานซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีหน้าที่จัดเตรียมและยกร่างข้อมติและร่างแถลงการณ์ร่วม เพื่อเสนอให้ที่ประชุมเต็มคณะพิจารณาและรับรอง
                คณะทำงาน (Working Group)
                ที่ประชุมประจำปีอาจจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการบริหาร โดยคณะทำงานจะต้องรายงานมติของที่ประชุมคณะทำงานนั้นต่อที่ประชุมประจำปีหรือคณะกรรมการบริหาร กรณีที่คณะทำงานได้รับการแต่งตั้งเพื่อยกร่างข้อมติใหม่จากร่างข้อมติที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันจะต้องเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม (Drafting Committee)
                อนึ่ง APPF ได้เคยแต่งตั้งตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ (Honorary President) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการบริหารและที่ประชุมประจำปี ซึ่งในอดีตผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของ APPF คือ นายยาซูฮิโร นากาโซเน่ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะผู้เริ่มก่อตั้งองค์กร APPF จนกระทั่งการถึงแก่อสัญกรรมของ นายยาซูฮิโร นากาโซเน่ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นผลให้รัฐสภาญี่ปุ่นได้เสนอต่อที่ประชุม APPF ครั้งที่ 28 ยกเลิกตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ ซึ่งต่อมาในการประชุม APPF ครั้งที่ 29 ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบการแก้ไขข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์
รูปแบบของการประชุม
                APPF จัดการประชุมขึ้นเป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง โดยจะประกอบด้วย การประชุมประจำปีแบบเต็มคณะ (Annual Meeting) การประชุมคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee Meeting) การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม (Drafting Committee Meeting) การประชุมคณะทำงาน (Working Group Meeting) และการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี (Meeting of Women Parliamentarians)

                1. การประชุมประจำปี (Annual Meeting)
                ที่ประชุมประจำปีจะทำการอภิปรายและพิจารณาร่างข้อมติ (Draft Resolutions) ต่าง ๆ ที่เสนอโดยประเทศสมาชิก และลงมติรับรองร่างฯ ดังกล่าวให้มีผลเป็นข้อมติที่แสดงท่าทีของ APPF ต่อเรื่องหรือปัญหาสำคัญ ๆ ของภูมิภาคและของโลก ซึ่งสมาชิกผู้เข้าร่วมการประชุมมีสิทธิอภิปรายได้โดยอิสระ และแต่ละประเทศมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงได้ 1 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีมติให้ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะและรายงานผลต่อที่ประชุมก็ได้
                การประชุมประจำปี APPF ที่ผ่านมา มีดังนี้
                1. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 มกราคม 2536 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
                2. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 มกรมาคม 2537 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
                3. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 มกราคม 2538 ณ เมืองอากาปุลโก สหรัฐเม็กซิโก
                4. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 18 มกราคม 2539 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ราชอาณาจักรไทย
                5. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 10 มกราคม 2540 ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา
                6. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 10 มกราคม 2541 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
                7. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 7 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 14 มกราคม 2542 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู
                8. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 8 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 14 มกราคม 2543 ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย
                9. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 19 มกราคม 2544 ณ เมืองฟาลปาไรโซ สาธารณรัฐชิลี
                10. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 9 มกราคม 2545 ณ ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
                11. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 11 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 มกราคม 2546 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
                12. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 12 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 14 มกราคม 2547 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
                13. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 13 มกราคม 2548 ณ เมืองฮาลอง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
                14. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 14 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 20 มกราคม 2549 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
                15. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 15 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 26 มกราคม 2550 ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย
                16. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 24 มกราคม 2551 ณ เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์
                17. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 17 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 15 มกราคม 2552 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
                18. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 18 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-22 มกราคม 2553 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
                19. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 19 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 27 มกราคม 2554 ณ กรุงฮูลานบาตอร์ มองโกเลีย
                20. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 20 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 27 มกราคม 2555 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
                21. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 21 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 - 31 มกราคม 2556 ณ เมืองวลาดิวอสต็อก สหพันธรัสเซีย
                22. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 22 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 16 มกราคม 2557 ณ เมืองปวยระโต บายารต้า สหรัฐเม็กซิโก
                23. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 23 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 15 มกราคม 2558 ณ กรุงกิโต สาธารณรัฐเอกวาดอร์
                24. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 24 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 21 มกราคม 2559 ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา
                25. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 25 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 19 มกราคม 2560 ณ สาธารณรัฐฟิจิ
                26. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 26 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 21 มกราคม 2561 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
                27. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 27 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 17 มกราคม 2562 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
                28.การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 28 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 16 มกราคม 2563 ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย
                29. การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 29 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2564 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (รูปแบบการประชุมทางไกล)

                2. การประชุมคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee Meeting)
                การประชุมคณะกรรมการบริหารจะจัดขึ้นก่อนการประชุมประจำปี 1 วัน เพื่อพิจารณาเรื่องที่จะบรรจุในระเบียบวาระการประชุมประจำปีของ APPF การดำเนินงานขององค์กรและสมาชิกภาพขององค์กร การรับทราบร่างข้อมติและรายงานการปฏิบัติตามข้อมติของประเทศสมาชิก และการแต่งตั้งประธานในการประชุมย่อยต่าง ๆ ทั้งนี้ รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารจะเป็นการรายงานด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร   ก็ได้

                3. การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและร่างแถลงการณ์ร่วม (Drafting Committee Meeting)
                การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและร่างแถลงการณ์ร่วมจะจัดขึ้นระหว่างการประชุมประจำปี เพื่อเตรียมร่างข้อมติและร่างแถลงการณ์ร่วมให้ที่ประชุมประจำปีพิจารณารับรองและเผยแพร่ ทั้งนี้ ประธานการประชุมต้องกล่าวรายงานผลการดำเนินการของคณะฯ ในการประชุมเต็มคณะ วาระที่ 4
 
                4. การประชุมคณะทำงาน (Working Group Meeting)
                การประชุมคณะทำงานจะจัดขึ้นระหว่างการประชุมประจำปี โดยอาจมีการประชุมในระหว่างการประชุมประจำปี หรืออาจประชุมนอกรอบกรณีมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้  หากเป็นคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาจัดทำร่างข้อมติ จะต้องเสนอร่างข้อมติต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณาต่อไป ขณะที่กรณีที่ประชุมประจำปีได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คณะทำงานนั้นจะต้องรายงานมติของที่ประชุมคณะทำงานนั้นต่อที่ประชุมประจำปีหรือคณะกรรมการบริหาร

                5. การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี (Meeting of Women Parliamentarians)
                การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีมีขึ้น 1 วัน ก่อนการประชุมประจำปี โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในโอกาสการประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 25 ในปี 2559 ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ตามที่คณะผู้แทนรัฐสภาอินโดนีเซียได้เสนอไว้ในการประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 23 ณ กรุงกิโต สาธารณรัฐเอกวาดอร์ และจัดให้มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีเห็นชอบที่จะให้การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีเป็นการประชุมถาวรในฐานะส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปี APPF ดังนั้น ที่ประชุม APPF ครั้งที่ 25 จึงมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับแก้ไขข้อบังคับของ APPF เพื่อบรรจุเรื่องการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีในฐานะส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปีอย่างถาวรในข้อบังคับ APPF และที่ประชุม APPF ครั้งที่ 26 ได้เห็นชอบการแก้ไขข้อบังคับที่บรรจุการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีดังกล่าว ทั้งนี้ ประธานการประชุมจะต้องกล่าวรายงานในการประชุมเต็มคณะวาระที่ 4 และส่งรายงานให้แก่ที่ประชุมเต็มคณะ
 
บทบาทและการมีส่วนร่วมของรัฐสภาไทย
                การประชุม APPF มีโครงสร้างขององค์กรที่คล่องตัวสอดคล้องกับลักษณะพหุนิยมและความหลากหลายของภูมิภาค สามารถทำหน้าที่ได้กว้างขวาง ทั้งยังไม่มีข้อกำหนดที่จะเป็นข้อจำกัดในการทำงานและขยายสมาชิกภาพในกาลข้างหน้า และเป็นองค์กรสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศที่สามารถรวบรวมประเทศริมขอบแปซิฟิก (Pacific Rim) ที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองและการค้าระหว่างประเทศและของภูมิภาคในปัจจุบันเป็นสมาชิกได้หลายประเทศ APPF จึงเป็นองค์กรสมาชิกรัฐสภาภูมิภาคอีกองค์กรหนึ่งนอกเหนือจากสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (APPU) ที่จะมีศักยภาพและบทบาทสำคัญในการใช้มาตรการทางรัฐสภาเพื่อพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาของภูมิภาคในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี
                ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น รัฐสภาไทยจึงให้ความสำคัญกับ APPF เป็นอย่างมาก รวมทั้งได้มีบทบาทและส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของ APPF ดังนี้
 
                1. การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APPF ในวาระต่าง ๆ
                    - การประชุมคณะกรรมการบริหารของ APPF ณ จังหวัดภูเก็ตในปี 2538
                    - การประชุมประจำปีฯ ของ APPF ครั้งที่ 4 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีในปี 2539
                    - การประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแลกเปลี่ยนทางด้านนิติบัญญัติระหว่างประเทศในปี 2539

                2. การส่งคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมของ APPF
                รัฐสภาไทยส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมของ APPF มาโดยตลอด ตั้งแต่ ปี 2536 จนถึง  การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2564 อนึ่ง รัฐสภาไทยงดส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมประจำปี APPF จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 19 ณ กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ระหว่างวันที่ 23 - 27 มกราคม 2554 และการประชุมประจำปีฯ ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่  10 - 15 มกราคม 2558 ณ กรุงกิโต สาธารณรัฐเอกวาดอร์
                    และในปี 2565 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Parliamentary Forum – APPF) ครั้งที่ 30  เพื่อหารือเรื่อง “บทบาท ของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : Parliaments and the Post-COVID-19 Sustainable Development" ระหว่างวันที่ 26 – 29 ตุลาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ มีการดำเนินการประชุมภายใต้แนวคิดการประชุมสีเขียว  (Green Conference) ด้วยการจัดการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และลดปริมาณขยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติภูมิแก่ประเทศไทย