สถานะ : เปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. .... เสนอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการดำเนินการของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยยกระดับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งปัจจุบันมีขึ้นตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. 2554 มาเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติโดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา

     เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. .... การพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ และต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุขในชุมชน จึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นประชาชนที่มีจิตอาสาในชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน ตามหลักการการสาธารณสุขมูลฐาน โดยยกระดับทักษะและขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้ดำเนินการตามหลักการดังกล่าวได้สัมฤทธิ์ผล ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายการประสานงาน การบริหารกิจการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และการดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพภายในชุมชนให้เป็นไปอย่างมีระบบ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

     ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. .... มีประเด็นที่สำคัญที่มีความแตกต่างกับระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. 2554 คือ การกำหนด “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” ไว้ 3 ประเภท คือ 1. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2. อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.กทม.) และ 3. อาสาสมัครสาธารณสุขอื่น  การกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการภารกิจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 3 ระดับ 4 ประเภท
คือ 1. คณะกรรมการระดับประเทศ 2. คณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ และ 3. คณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะกรรมการกรุงเทพมหานคร

     สำหรับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการประพฤติตนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีการกำหนดอายุขั้นสูงของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คือ จะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี และต้องมีชื่ออยู่ในเบียนบ้านพร้อมทั้งต้องอยู่อาศัยในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น ๆ จึงจะสามารถเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น ๆ และห้ามบุคคลที่เป็นข้าราชการการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ขึ้นทะเบียนเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อีกทั้งกำหนดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมและแบบแผนความประพฤติสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เช่น ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง

     ด้านการพัฒนาทักษะกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดการฝึกอบรมฟื้นฟูความรู้ความสามารถ การพัฒนาสมรรถนะ ของเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจะต้องได้รับการประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งกำหนดให้มีกองทุนสนับสนุนการปฏิบัติของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายในการสร้างเสริมสุขภาพของชุมชน

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

     1.2 กระทรวงสาธารณสุข

     1.3 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

     1.4 องค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับประเทศ ระดับภาค ระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้านหรือชุมชน

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

     2.2 สำนักงบประมาณ

     2.3 คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

     2.4 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

     2.5 คณะกรรมการอาหารและยา

     2.6 กรมบัญชีกลาง

     2.7 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

     2.8 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

     2.9 กรมควบคุมโรค

     2.10 กรมการแพทย์

     2.11 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

     2.12 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

     2.13 กรมสุขภาพจิต

     2.14 กรมอนามัย

     2.15 กรุงเทพมหานคร

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนด “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” ไว้ 3 ประเภท คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.กทม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขอื่น (ร่างมาตรา 4)

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน บริหารจัดการภารกิจเกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 3 ระดับ 4 ประเภท คือ คณะกรรมการระดับประเทศ คณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ คณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะกรรมการกรุงเทพมหานคร (ร่างมาตรา 4 และหมวด 1 ร่างมาตรา 6 - 24)

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดอายุขั้นสูงของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่จะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี และต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพร้อมทั้งต้องอยู่อาศัยในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น ๆ จึงจะสามารถเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น ๆ (ร่างมาตรา 25 ก.)

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดห้ามบุคคลที่เป็นข้าราชการการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ขึ้นทะเบียนเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (ร่างมาตรา 25 ข.)

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมและแบบแผนความประพฤติสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เช่น ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง (ร่างมาตรา 32)

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดการฝึกอบรมฟื้นฟูความรู้ความสามารถ การพัฒนาสมรรถนะ ของเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจะต้องได้รับการประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงาน (ร่างมาตรา 33 – 34)

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีกองทุนสนับสนุนการปฏิบัติของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายในการสร้างเสริมสุขภาพของชุมชน (ร่างมาตรา 43 – 48)

     8. ปัจจุบันท่านคิดว่าการบริหารจัดการเกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่อย่างไร

     9. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ