Error inserting IP into survey_ip: ระบบรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
สถานะ : เปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

                     เนื่องจากปัจจุบันปัญหาความมั่นคงของประเทศมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล ถือเป็นกลไกสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในทุกตำบล หมู่บ้าน เช่น การปราบปรามยาเสพติด ปัญหาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ปัญหาภัยพิบัติและโรคระบาดร้ายแรง ซึ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว ในพื้นที่ตำบล หมู่บ้านอันถือเป็นราชการส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะแตกต่างจากการบริหารสาธารณะที่เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยบริหารตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ดังนั้น การทำหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในทุกพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน จึงเป็นคนละส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังเสริมสร้างความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยเทศบาลบางส่วนยังส่งผลให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 
แพทย์ประจำตำบลและสารวัตรกำนัน ไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ในทุกตำบล หมู่บ้าน

                      โดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้ท้องถิ่นใดที่ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครแล้ว เมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะ
                       1.ห้ามแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในท้องถิ่นนั้น 
                       2.ให้บรรดาบุคคลที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันพ้นจากตำแหน่งและหน้าที่เฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้น

                       นอกจากนี้ยังกำหนดให้ในเขตเทศบาลตำบลใด ถ้าหมดความจำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หรือสารวัตรกำนัน ให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว
ในราชกิจจานุเบกษา

                        ส่วนในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงเขตเป็นเทศบาลสิ้นสุดอำนาจหน้าที่เฉพาะในเขตที่ได้เปลี่ยนแปลงนั้นเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลใช้บังคับเป็นต้นไป

                         ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จึงได้กำหนดให้เฉพาะเทศบาลเมืองที่ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลนครและกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลนครเท่านั้น ไม่ต้องมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในเทศบาลนคร อีกทั้งให้มีตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หรือสารวัตรกำนัน ในเขตเทศบาลตำบลที่ถูกยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว และอำนาจหน้าที่ระหว่างนายกเทศมนตรีกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.กรมการปกครอง 
2.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 

ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1.สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย
2.สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย
3.สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
4.สมาคมเทศบาลนครและเมือง

ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นใดที่ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง (ร่างมาตรา 3) 

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการให้มีตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หรือสารวัตรกำนัน ในเขตเทศบาลตำบลที่ถูกยกเลิกตำแหน่งดังกล่าวไปแล้ว (ร่างมาตรา 3)

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน มีอำนาจหน้าที่ในท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงเขตเป็นเทศบาลเมือง (ร่างมาตรา 4)

4. ท่านเห็นว่าการให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในทุกเขตเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร  

5. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)