นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ รองประธานคณะ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คนที่หนึ่ง น.ส.กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล รองประธานคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม คนที่สอง และนายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ รองประธานคณะ กมธ.การพลังงาน คนที่สี่ พร้อมด้วย สส.จังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือจาก นายอภิสิทธิ์ อาจรักษา ตัวแทนประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ รองประธานคณะ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คนที่หนึ่ง น.ส.กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล รองประธานคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม คนที่สอง และนายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ รองประธานคณะ กมธ.การพลังงาน คนที่สี่ พร้อมด้วย สส.จังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือจาก นายอภิสิทธิ์ อาจรักษา ตัวแทนประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
เนื่องด้วยบริษัท มีขวัญ พาวเวอร์ จำกัด และ บริษัท เดอะ พราว พาวเวอร์ จำกัด จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ประชาชนในพื้นที่ต่างมีความวิตกกังวลต่อการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าขยะ เนื่องจากการดำเนินการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ ต.ปลวกแดง อาจทำให้เกิดมลพิษและปัญหากับสุขภาพ ดังนี้
1.อาจทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติการรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตด้วยโรคปอดและหัวใจ ประกอบกับโรงงานในพื้นที่ ต.ปลวกแดงมีจำนวนกว่า 200 โรงงานและโรงไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียงอีกประมาณ 12
โรงไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้สภาพอากาศในพื้นที่นั้นมีคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่แล้ว
2. กระบวนการเผาไหม้ที่เป็นขั้นตอนสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าก่อให้เกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และก๊าชคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) รวมถึงก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าชเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโรคร้อน นอกจากนี้ควันจากการเผาขยะยังมีสารอื่น ๆ อีกหลายชนิด ซึ่งสารบางชนิดอยู่ในกลุ่มสารอันตรายต่อสุขภาพและบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง
3. ขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าอาจมีสารโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ หากจัดการไม่ดีอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ ประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าอาจได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากฝุ่นละออง
4. โรงไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก สำหรับลดอุณหภูมิของระบบผลิตกระแสไฟฟ้า จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำของชุมชน และสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ น้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้าอาจมีอุณหภูมิสูงจนสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำและรบกวนระบบนิเวศของแหล่งน้ำในพื้นที่ได้
5. อาจเกิดปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากโรงไฟฟ้านั้นจำเป็นต้องใช้ขยะเป็นจำนวนมากในการทำให้ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จำนวนรถบรรทุกขยะก็จะมีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับประชาชนในพื้นที่ได้
6. ความเครียดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย และวิตกกังวลต่อผลกระทบสุขภาพของตนเองและครอบครัว
ทั้งนี้ โครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวได้ระบุขนาดกำลังการผลิตไว้บริษัทละ 9,900 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้เกิดข้อสังเกตว่า ทั้ง 2 บริษัท อาจเป็นเจ้าของเดียวกัน แต่ทำการแบ่งกิจการออกเป็น 2 บริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุขนาดกำลังการผลิตไว้ 10 เมกะวัตต์ อีกทั้งเอกสารสรุปข้อมูลโครงการของทั้ง 2 บริษัทนั้น ยังจ้างบริษัทผู้จัดทำรายเดียวกัน ในวันและเวลาไล่เลี่ยกันอีกด้วย ดังนั้น ประชาชน ต.ปลวกแดง จึงขอให้คณะ กมธ. พิจารณาถึงผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน รวมถึงความเหมาะสมในการอนุญาตให้มีการดำเนินกิจการโรงงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่
ทั้งนี้ นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล กล่าวว่า คณะ กมธ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความเป็นธรรม และการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยยืนยันว่าจะประสาน สส. ในพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลและนำไปศึกษาในชั้น กมธ. ต่อไป
ด้าน น.ส.เบญจา แสงจันทร์ กล่าวว่า คณะ กมธ. จะสืบหาข้อเท็จจริงว่าการสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้น เป็นการเลี่ยงกฎหมายหรือไม่ และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะ กมธ. เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน
น.ส.กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ นั้น จะต้องมีการถอดบทเรียนและศึกษาเรื่องการบริหารจัดการอย่างจริงจัง โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. ต่อไป
ด้าน นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. เพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและให้ข้อมูลต่อไป