นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง แถลงข่าวเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 1 โดยการลงทะเบียนผ่าน QR-Code จำนวน150 คน โดยไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา และไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง แถลงข่าวเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 1 โดยการลงทะเบียนผ่าน QR-Code จำนวน150 คน โดยไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา และไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่วันนี้ (14 ธ.ค. 66) จนถึงวันที่ 25 ธ.ค. 66 หรือจนกว่าจะครบตามจำนวนที่กำหนด และจะมีการนัดหมายผู้ลงทะเบียนมา ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา ในวันที่ 3 ม.ค. 67 เวลา 08.30 น. เพื่อเข้าร่วมอบรมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ให้กับผู้ร่วมสังเกตการณ์ได้ทราบ โดยจัดอาหารให้เหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองอย่างแท้จริง หากผลการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจจะจัดให้มีการเข้าร่วมสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยานในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการต่อไป
พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงเรื่ององค์ประชุมในประชุมสภาฯ เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 66) ว่า สืบเนื่องจากการประชุมสภาฯ เมื่อวานนี้มีการตรวจสอบองค์ประชุม ซึ่งหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุมได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงว่า การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะกำหนดองค์ประชุมไว้ในข้อบังคับเป็นอย่างอื่น ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ในข้อ 25 วรรคสอง ได้กำหนดว่า เมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาจึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ถามตามมาตรา 150 ของรัฐธรรมนูญฯ ถ้ามีสมาชิกลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้องจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมพิจารณาได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุมในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2551 ซึ่งสรุปเกี่ยวกับการกำหนองค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในรัฐธรรมนูญนั้นว่า "องค์ประชุมมิได้มีความหมายแต่เพียงว่า เมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมครบและเปิดการประชุมแล้ว หลังจากนั้นสมาชิกจะอยู่ร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนสมาชิกในที่ประชุมอีกต่อไป หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผลก็จะเป็นว่าหลังจากเปิดประชุม แม้จะมีสมาชิกอยู่ประชุมเพียงไม่กี่คนก็อาจลงมติและมีเสียงข้างมากได้ ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ" ทั้งนี้ การตรวจสอบองค์ประชุม สมาชิกมีสิทธิขอให้มีการตรวจสอบองค์ประชุมได้ตลอดเวลา เพื่อให้องค์ประชุมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 120 กำหนดไว้ โดยข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 32 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานในที่ประชุมในการกำหนดวิธีการตรวจสอบองค์ประชุม ซึ่งประธานในที่ประชุมจะกำหนดวิธีการตรวจสอบองค์ประชุมอย่างใด ด้วยวิธีการเช่นใดก็ได้ เช่น ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน (เสียบบัตร) เรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิก ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน (ขานชื่อ) หรือวิธีอื่นใด เป็นต้น โดยมีข้อสังเกตคือ ประธานในที่ประชุมจะต้องพิจารณาสถานการณ์และภาพรวมของสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด และอาจชี้แจงให้สมาชิกทราบว่าการนับองค์ประชุมแม้เป็นสิทธิของสมาชิก แต่ก็ไม่ควรใช้กันพร่ำเพรื่อ หากในขณะนั้นที่ประชุมเพิ่งผ่านการลงมติและผลการแสดงตนปรากฏว่าครบองค์ประชุมไปก่อนแล้ว