นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ รองประธานคณะ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนที่สอง พร้อมด้วย นายปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือจาก ผศ.เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เรื่อง การใช้คำนำหน้านามในธุรกรรมและธุรกรรมออนไลน์ของธนาคาร
วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ รองประธานคณะ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนที่สอง พร้อมด้วย นายปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือจาก ผศ.เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การใช้คำนำหน้านามในธุรกรรมและธุรกรรมออนไลน์ของธนาคาร
เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 ได้สอบถามธนาคารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เรื่องการระบุคำนำหน้านามบุคคลในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์นั้นสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าจาก นาย เป็น คุณ ได้หรือไม่ และได้รับแจ้งจากธนาคารว่าจะยึดตามเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 67 ได้มีการนำเสนอข่าวโดยสำนักข่าวข่าวสดออนไลน์ ประเด็นชี้แจงกรณีใช้คำนำหน้าว่า "คุณ" หลังมีกระแสสังคมเรื่องเลือกปฏิบัติ และมีบุคคลติดต่อสอบถามไปยังธนาคาร ณ ที่ทำการสาขา และโทรศัพท์สอบถามผ่านบริการศูนย์บริการลูกค้า ซึ่งมีเนื้อหาที่แสดงว่าธนาคารยังไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้และจะยึดตามบัตรประจำตัวประชาชนการที่มีการระบุนำหน้านาม เช่น คุณ หรือ ดร. ในบัญชีธนาคารและปรากฎอยู่ในหลักฐานธุรกรรมออนไลน์จากกรณีข้างต้น จึงไม่สอดคล้องกับเอกสารทางราชการ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ ประเด็นคำนำหน้าในกลุ่มสาวประเภทสอง คนข้ามเพศ ในประเทศไทยยังคงระบุคำนำตามเพศกำเนิดตามบัตรประจำตัวประชาชนในเอกสารของภาคเอกชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเพศสภาพและส่งผลกระทบต่อการยืนยันตัวตนและเกิดเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ
จากกรณีดังกล่าวได้สร้างความสับสนต่อบริการของธนาคารทำให้เกิดความแตกต่างและสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและนโยบายการให้บริการสำหรับภาคการเงินและธนาคาร โดยเฉพาะในปัจจุบันแนวคิดธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) ได้ทำให้เกิดนโยบายเรื่องความหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม (Equality) และการมีส่วนร่วม (Inclusion) หรือ DEI ที่ภาคการเงินและธนาคารของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยได้ประกาศเป็นนโยบายหรือจรรยาบรรณของธนาคาร จึงขอร้องเรียนต่อคณะ กมธ. พิจารณาศึกษาปัญหาข้างต้นเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจเรื่องมิติเพศสภาพกับภาคธุรกิจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อไป
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ในปัจจุบันเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน จะมีมุมมองต่อกระบวนการให้บริการ การสร้างความเท่าเทียม การสร้างการยอมรับของความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร เพราะฉะนั้นจะนำเรื่องดังกล่าวเป็นหัวข้อตั้งต้นในการพิจารณาในคณะ กมธ. สำหรับในฐานะสภาผู้แทนราษฎร เรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่จะต้องผลักดันต่อไป