ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข รับยื่นหนังสือจาก นายเพชร มโนปวิตร ตัวแทนองค์กรไวล์ดเอด และมูลนิธิรักสัตว์ป่า เรื่อง ขอความร่วมมือรัฐสภา “ฉลองไม่ฉลาม” ไม่บริโภค ไม่เสิร์ฟเมนูฉลามในรัฐสภาและงานเลี้ยงทางราชการในทุก ๆ โอกาส
วันพุธที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข รับยื่นหนังสือจาก นายเพชร มโนปวิตร ตัวแทนองค์กรไวล์ดเอด และมูลนิธิรักสัตว์ป่า เรื่อง ขอความร่วมมือรัฐสภา “ฉลองไม่ฉลาม” ไม่บริโภค ไม่เสิร์ฟเมนูฉลามในรัฐสภาและงานเลี้ยงทางราชการในทุก ๆ โอกาส สืบเนื่องจากเมื่อวันพฤหัสที่ 29 ก.พ. 67 นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข ได้โพสต์รูปภาพและข้อความในสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า "ในทะเลมีฉลาม ในสภามี... คุณคิดว่าสภาควรจัดหูฉลามให้ สส.กินกันไหม #งดเลี้ยงอาหาร สส.สว. เถอะครับ" องค์กรไวล์ดเอดเป็นองค์กรที่ดำเนินโครงการรณรงค์ “ฉลองไม่ฉลาม” เพื่อลดความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย และได้สอบถามไปยัง นายทศพร เสรีรักษ์ ได้รับทราบข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า ซุปหูฉลาม เป็นหนึ่งในรายการอาหารที่จัดเลี้ยงให้กับ สส. เมื่อวันพุธที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การเสิร์ฟเมนูหูฉลามเป็นการสนับสนุนการบริโภคเมนูจากสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งการบริโภคเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักประการสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามทั่วโลกมีจำนวนลดลง หลายชนิดพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และยังส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศในทะเล ดังนั้น องค์กรไวล์ดเอด และมูลนิธิรักสัตว์ป่า จึงขอถือโอกาสนี้ในการสร้างความตระหนักต่อรัฐสภา ถึงผลกระทบของการบริโภคเมนูที่ทำจากฉลาม และความสำคัญของฉลามที่มีต่อระบบนิเวศทางทะเล จึงขอความร่วมมือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้วยการ “ฉลองไม่ฉลาม” ไม่บริโภคและไม่เสิร์ฟเมนูที่ทำจากปลาฉลามในรัฐสภา และงานเลี้ยงทางราชการในทุก ๆ โอกาส ซึ่งในแต่ละปีมีปลาฉลามราว 80 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ราว 25 ล้านตัว หรือ 1 ใน 3 เป็นปลาฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์
นายทศพร เสรีรักษ์ กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ขอรณรงค์ให้การเลี้ยงอาหารในที่ประชุมสภา "ฉลองแต่ไม่ฉลาม" เมนูหูฉลามไม่ได้มีคุณค่าทางอาหาร แต่เป็นความเชื่อของคนรวยในอดีต และขอเรียกร้องในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าต่อไปจะต้องไม่มีเมนูที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และขอให้ยกเลิกการเลี้ยงอาหาร สส. สว. หรืออย่างน้อยขอให้ยกเลิกเลี้ยงอาหารมื้อเย็นแก่ สส.และ สว. ซึ่งงบประมาณสำหรับการเลี้ยงอาหารรวมทั้งการประชุม กมธ.ด้วย ในปีหนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายล้านบาท และขอให้นำงบประมาณส่วนนี้ไปเพิ่มเป็นค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียนที่ได้รับงบประมาณเพียงแค่วันละ 20 กว่าบาทเท่านั้น