น.ส.ชุติมา คชพันธ์ สส. พรรคก้าวไกล และคณะ แถลงข่าว เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.การคลัง ให้ความเป็นธรรมและดูแลผู้เสียหายกรณีคริปโต Zipmex
วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา น.ส.ชุติมา คชพันธ์ สส. พรรคก้าวไกล และคณะ แถลงข่าวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.การคลัง ให้ความเป็นธรรมและดูแลผู้เสียหายกรณีคริปโต Zipmex โดยได้ทวงถามถึงการทำหน้าที่และความจริงใจในการดูแลประชาชนของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กรณีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมติเสนอแนะต่อ รมว.การคลัง ให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต Zipmex จากการเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และแจ้งลูกค้าติดต่อบริษัทขอรับสินทรัพย์ที่ฝากไว้ใน Trade Wallet คืน ภายใน 11 มี.ค.นี้ บัดนี้ เวลาได้ล่วงเลยกำหนดเวลาแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่น่าพึงพอใจแต่อย่างใด หากนับจากวันที่เกิดความเสียหายก็ล่วงเลยมาเกือบ 2 ปี แต่ความเดือดร้อนทุกข์ยากของผู้เสียหายไม่ได้ถูกทำให้เบาบางคลี่คลายลงแต่อย่างใด ทรัพย์ของผู้เสียหายที่เพียงแค่ทำการฝากเงินโดยบริสุทธิ์ใจจะยังได้รับการคุ้มครองอยู่หรือไม่ กระบวนการเรียกทรัพย์คืนจะได้หรือไม่ ด้วยวิธีการเช่นไร คำถามเหล่านี้จากทางผู้เสียหายยังคงวนเวียนอยู่และไม่ได้รับการสรุปคำตอบที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีในฐานะ รมว.การคลังเลย
ในฐานะผู้แทนราษฎร จึงขอเรียกร้องต่อนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ดำเนินการโดยเด็ดขาดต่อบริษัท Zipmex จำกัด เพื่อเป็นการเรียกคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้เสียหายและเรียกคืนความเชื่อมั่นตลาดการเงินไทยกลับมาให้ได้ ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้บริษัท Zipmex แสดงความรับผิดชอบต่อผู้เสียหาย จ่ายเงินคืนตามจำนวนที่ได้ออมไว้ รวมถึงมีการพูดคุยถึงความต้องการกับผู้เสียหายจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างถึงที่สุด บริษัท Zipmex ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากทาง ก.ล.ต. ภายในความดูแลของ รมว.การคลัง ตั้งแต่ปี 2561 ต่อมามีเหตุการณ์สินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าได้ถูกถ่ายโอนจากไทยไปยังอีกบริษัทในต่างประเทศ เพื่อนำฝาก และหวังผลกำไร โดยลูกค้าไม่รับทราบถึงรายละเอียดทั้งหมด กระทั่งต่อมาเกิดการล้มละลายของบริษัทที่นำเงินไปลงทุนต่อ เกิดความเสียหายอย่างหนักมายังผู้ลงทุนในไทย เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นที่ชัดเจนว่าบริษัท Zipmex ได้กระทำการขัดกับเงื่อนไขกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ระบุว่าห้ามมิให้บริษัทฯ แตะต้องสินทรัพย์ของลูกค้าห้ามนำไปหาดอกผล รวมถึงนำไปฝากและให้บุคคลอื่นยืมความเสียหายครั้งนี้มีประชาชนกว่า 69,000 ราย ได้รับผลกระทบเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท เงินเหล่านั้นเป็นเงินออม เงินเกษียณ เงินที่ประชาชนเก็บมาทั้งชีวิต ทั้งนี้เมื่อเดือน เม.ย. 66 ก.ล.ต.ได้สั่งเทียบปรับเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ รวมเป็นเงิน 10,977,000 บาท ใน 13 ข้อหา ซึ่งเงินปรับจำนวนนี้เทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายของประชาชนที่เกิดขึ้น และตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทางก.ล.ต.ได้มีคำสั่งให้บริษัทจัดทำแผนและดำเนินการตามแผนในการดำรงสถานะเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ โดยคำนึงถึงประโยชน์ลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านพ้นมา บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ได้ จนท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 ทาง ก.ล.ต.ได้มีมติจากที่ประชุมสั่งการให้บริษัทฯ คุ้มครองทรัพย์สินลูกค้า โดยให้บริษัทฯโอนทรัพย์สินคืนลูกค้าหรือตามคำสั่งลูกค้า ภายในวันที่ 11 มี.ค. 67 หรือหากลูกค้าไม่มาแจ้งความประสงค์บริษัทฯ ต้องฝากทรัพย์ลูกค้าในระบบที่มั่นคงปลอดภัยภายใน 30 วัน นับแต่ที่ครบกำหนด และรายงานการดำเนินงานให้ ก.ล.ต.รับทราบ และก.ล.ต. มีมติเสนอต่อ รมว.การคลัง เพื่อพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ต่อไป ซึ่งคดีนี้มีมาตั้งแต่ปี 2565 มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก สร้างความผิดปกติ ขาดความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุนประเทศไทยในวงกว้าง โดยตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มตัวแทนผู้เสียหายและนำเรื่องนี้เข้าอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 รวมทั้งได้ติดตามความคืบหน้าผ่านทางคณะ กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงินมาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันนี้ ให้เร่งดูแลประชาชนผู้เสียหาย เนื่องจากการดูแลประชาชนของรัฐบาลมีความล่าช้า และใช้ระยะเวลาดำเนินการที่นานมากเกินไปแล้ว