ประธานคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณากรณีมีการร้องเรียนว่าบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก มีการขายและขนย้ายกากแร่อุตสาหกรรมมายัง จ.สมุทรสาคร อย่างผิดกฎหมาย
วันพุธที่ 3 เมษายน 2567 เวลา 16.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณากรณีมีการร้องเรียนว่าบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก มีการขายและขนย้ายกากแร่อุตสาหกรรมมายัง จ.สมุทรสาคร อย่างผิดกฎหมาย โดยคณะ กมธ. มีมติให้ จ.ตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการระงับยับยั้งการขนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกชนิดจากโรงงานดังกล่าว รวมทั้งให้ จ.สมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการประกาศให้พื้นที่ที่มีการกักเก็บกากอุตสาหกรรมอันตรายเป็นพื้นที่ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน
โดยวันนี้ คณะ กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตัวแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตัวแทนอธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก อุตสาหกรรมจังหวัดตาก และผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งกรมอนามัยให้ข้อมูลว่ากากแร่อุตสาหกรรมดังกล่าว คือ สารแคดเมียม เป็นสารอันตรายและเป็นสารก่อมะเร็งร้ายแรง โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีการขนย้ายออกจากโรงงานต้นทาง ใน จ.ตาก และโรงงานปลายทาง ใน จ.สมุทรสาคร มีการกองเก็บที่ผิดกฎหมายและผิดหลักเกณฑ์วัตถุอันตรายร้ายแรงประมาณเกือบ 10,000 ตัน จากการตรวจสอบลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงโรงงานได้ คณะ กมธ.จึงมีมติให้ จ.ตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการระงับยับยั้งการขนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกชนิดจากโรงงานดังกล่าว ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีให้ถึงที่สุด รวมทั้งให้ จ.สมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการประกาศให้พื้นที่ที่มีการกักเก็บกากอุตสาหกรรมอันตรายเป็นพื้นที่ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน และให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุดด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กมธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว หากมีการเชิญมาชี้แจงต่อคณะ กมธ. ก็ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือมาประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ 5 เม.ย. 67 คณะ กมธ.จะเดินทางไปตรวจสอบโรงงานถลุงเหล็กที่ จ.ระยอง และจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตาสิทธิ์ จ.ระยอง ทั้งนี้ที่ผ่านมา กมธ.พบโรงงานที่ดำเนินการโดยนักลงทุนจากต่างประเทศกระทำผิดกฎหมายหลายแห่ง รวมทั้งโรงงานหลายแห่งมีการกองเก็บสารผิดกฎหมายข้างต้นด้วยเช่นกัน จึงมีข้อห่วงใยไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน