ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจาก อุปนายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ในฐานะตัวแทนสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย
วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจาก นายเนย สุขประเสริฐ อุปนายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ในฐานะตัวแทนสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย
สืบเนื่องจาก 4 สถาบันองค์กรชาวไร่อ้อยได้รับทราบปัญหาในปัจจุบันของช้างป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติมีจำนวนประชากรประมาณ 4,013 - 4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง โดยแต่ละพื้นที่พบการกระจายตัวของช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว จนถึง 300 ตัว (ข้อมูลวันที่ 9 มี.ค. 66 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการสำรวจและการประเมินประชากรช้างป่าทั่วประเทศ ปี 2566) แต่ปัจจุบันผืนป่าเสื่อมโทรมแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารลดลง จึงทำให้ช้างออกมาจากพื้นที่อนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อหาอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช้างออกจากป่ามากขึ้น และการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตร จากเดิมมีป่าประมาณร้อยละ 60 ปัจจุบันเหลือประมาณร้อยละ 30 แสดงให้เห็นว่าพื้นที่อาศัยและอาหารของช้างลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าขึ้นมา เพื่อให้มีการบูรณาการ และแก้ไข ปัญหาเรื่องช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 66 ได้ออก 6 มาตรการ แก้ไขปัญหาช้างป่าและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย
1. การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า
2. แนวป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ (สร้างรั้วไฟฟ้า และขุดคูกันช้าง)
3. ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า เช่น การลาดตระเวน จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังช้างป่า ร่วมกับเครือข่ายชุมชนอาสาสมัคร
4. การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า (จ่ายเงินเยียวยา และพัฒนาระบบช่วยเหลือ)
5. การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน (ปรับปรุงทุ่งหญ้า แหล่งน้ำ และพื้นที่ป่า)
6. การควบคุมประชากรข้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด
อย่างไรก็ตาม ในนามของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและประสบภัยจากช้างป่าทั่วประเทศ มีความเห็นว่า รัฐบาลยังไม่เห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สะท้อนผ่านการจัดสรรงบประมาณ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้รับในปี 2566 แค่เพียง 148 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ไขช้างป่าทั้งประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายและแก้ปัญหาของภาครัฐในระดับพื้นที่ยังขาดเอกภาพและติดขัดเรื่องข้อกฎหมายหลายประการ โดยเฉพาะงบประมาณในด้านการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น ในนาม 4 สถาบันองค์กรชาวไร่อ้อย จึงขอเรียกร้องให้คณะ กมธ.วิสามัญฯ หามาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และรัฐบาลต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาและข้อกฎหมาย กรณีเกษตรกรผู้ประสบภัยจากช้างป่าทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ได้เสนอมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 4 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ขอขอบคุณสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยที่มายื่นหนังสือและพูดถึงความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเกษตรในวันนี้ ตนในฐานะประธานคณะ กมธ. ได้รับเรื่องและเห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้ โดย กมธ.มีการพูดคุยกับหลายกลุ่มเพื่อรับทราบการแก้ไขปัญหา โดยข้อเสนอของทาง 4 สถาบันองค์กรชาวไร่อ้อยเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทาง กมธ.พยายามดำเนินการผลักดันอยู่ในขณะนี้
โดย นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ.ได้ถอดบทเรียนที่ กมธ.ชุดที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว และจะศึกษาเพิ่มเติมว่ามีการดำเนินการและมีข้อติดขัดอย่างไร รวมทั้งจะพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน โดยคณะ กมธ.ชุดนี้ตั้งขึ้นมาในบริบทที่ปัญหาช้างป่ามีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และต้องแก้ไขปัญหาด้วยชุดความคิดและความเข้าใจในปัจจุบันว่าช้างป่าไม่สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐไม่ได้สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดย กมธ.ที่มาจากทุกพรรคการเมืองชุดนี้มาด้วยความตั้งใจและจุดมุ่งหมายเดียวกัน รวมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรผลักดันประเด็นช้างป่าให้เป็นวาระแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประเด็นที่ทางสมาพันธ์ได้นำเสนอมาในวันนี้ กมธ.จะนำมาพิจารณาและผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป