ประธานคณะ กมธ. ที่ดิน ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกฤช ศิลปชัย รองประธานคณะ กมธ. คนที่เจ็ด และนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เลขานุการคณะกมธ. ร่วมกันรับยื่นข้อเสนอ จากนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ตัวแทนกลุ่มชาวกะเหรี่ยงชุมชนห้วยกระซู่ห้วยหินเพลิง และสาริกา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี
วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะ กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกฤช ศิลปชัย รองประธานคณะ กมธ. คนที่เจ็ด และนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เลขานุการคณะกมธ. ร่วมกันรับยื่นข้อเสนอจากนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ตัวแทนกลุ่มชาวกะเหรี่ยงชุมชนห้วยกระซู่ ห้วยหินเพลิง และสาริกา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นชาวกระเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่กำลังจะประกาศใช้
เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการกำหนดว่า ชาวบ้านจะต้องทำกินตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เป็นการให้สิทธิที่อยู่อาศัยและทำกินชั่วคราว 20 ปี ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ และที่ดินที่ได้ต้องทำกินทุกแปลงอย่างต่อเนื่อง ห้ามละเว้นทำกินมากกว่า 1 ปี หากละเว้นจะเสียสิทธิ เงื่อนไขเช่นนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ในวิถีการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มดังกล่าว เมื่อทำกินไม่ได้เหลือทางออกอย่างเดียวคือต้องทำเกษตรเชิงเดี่ยวซึ่งพบว่าเกิดผลเสียแก่ทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน มากกว่าการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนมีการพิสูจน์ด้วยการใช้ชีวิตมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษผ่านมานับ 100 ปีว่าสามารถรักษาป่าได้อุดมสมบูรณ์จนสามารถกลายเป็นมรดกโลกได้ นักวิชาการได้ทำการศึกษาในพื้นที่พบว่าวิถีไร่หมุนเวียนช่วยเก็บกักคาร์บอนและเพิ่มความสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดิน ผลพลอยได้อีกอย่างคือวิถีไร่หมุนเวียนจะไม่มีการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดินให้กับบุคคลภายนอกเพื่อเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นอย่างอื่น หากเทียบกับการจัดที่ดินทำกินให้ทำเกษตรแบบวิถีใหม่เกษตรเชิงเดี่ยวอย่างที่กฎหมายออกแบบให้เป็นไป แม้ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จะมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้สิทธิแก่ชาวบ้านที่เคยอยู่โดยเฉพาะในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมเพิ่มขึ้นในมาตรา 64 และมาตรา 65 โดยกำหนดว่ารับรองวิถีทำกินแบบดั้งเดิมหากเป็นไปเพื่อเลี้ยงชีพแม้จะกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติบ้างไม่ถือเป็นความผิด ไม่เอาโทษ และให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจการใช้ประโยชน์ตามวิถีของชาวบ้านที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น วิถีดั้งเดิมของชาติพันธ์ุ หรือวิถีใหม่ก็ตามต้องสำรวจข้อมูลให้เสร็จสิ้นภายใน 240 วัน ชาวบ้านทั้ง 3 ชุมชนที่มาในวันนี้ได้ยื่นคำร้องไว้แล้วภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยแจ้งความประสงค์ว่าขอให้กันที่ดินบริเวณที่เคยทำไร่หมุนเวียนดั้งเดิมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่เศษ มาเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียน รวมทั้งเพิ่มเติมเรื่องเงื่อนไขที่จะให้สามารถใช้ประโยชน์ตามสมควร โดยไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นไปเพื่อการหาเลี้ยงชีพ แต่เมื่อยื่นไปแล้วเจ้าหน้าที่แจ้งว่าดำเนินการไม่ได้เนื่องจากร่าง พ.ร.ฎ.ใหม่ที่กำลังจะออกประกาศ คือ ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ไม่เปิดช่องให้ ทำให้ชาวบ้านต้องมายื่นเรื่องต่อคณะ กมธ. เพื่อพิจารณาช่วยเหลือ ให้กรมอุทยานฯ พิจารณาเพิ่มเติมเงื่อนไขประเด็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เป็นการรับรองวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงตามวิถีเดิม เพราะเดิมกำหนดไว้เฉพาะให้สิทธิแก่ผู้ยากไร้ทั่วไป และเป็นโครงการเพื่อการอนุรักษ์ที่ดินอุทยาน โครงการอนุรักษ์ไม่ควรมีแต่เรื่องให้สิทธิผู้ยากไร้อย่างเดียว แต่ควรให้สิทธิและคุ้มครองกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิมที่ทำกินตามวิถีเดิมควบคู่กัน โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ชัดเจนคือรัฐกำลังจะออกระเบียบเกี่ยวกับการไม่เอาโทษในการใช้ประโยชน์ทรัพยากร หากใช้เพื่อเลี้ยงชีพเลี้ยงชีพตามปกติธุระ ควรเขียนให้ชัดเจนลงไปด้วยว่า "ปกติธุระ" ของชนเผ่าดั้งเดิม คือการทำไร่หมุนเวียน
ด้านนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี กล่าวว่า คณะ กมธ. มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ุหลายกลุ่ม ทั้งนี้ การประชุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา กมธ. ได้เชิญกรมอุทยานฯ เข้ามานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำไร่หมุนเวียนของพี่น้องกะเหรี่ยงและชาติพันธ์ุ ซึ่งในที่ประชุมมีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ โดยได้ข้อสรุปคือจะต้องดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ขณะนี้ กมธ.ได้ดำเนินการร่างหนังสือข้อเสนอแนะและปัญหาของประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งดำเนินการยื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกรมอุทยานฯ เพื่อดำเนินการแก้ไขนิยามและรายละเอียดการทำไร่หมุนเวียนต่อไปขณะที่นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ได้จัดทำร่างกฏหมายเสร็จแล้ว และส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบ เมื่อวานนี้ได้รับทราบว่าคณะรัฐมนตรีให้ขยายระยะเวลาออกไปก่อน ดังนั้น เรื่องนี้ยังอยู่ในวิสัยของกรมอุทยานฯ และคณะกรรมการกฤษฎีกาในการทบทวนร่างกฎหมาย ซึ่งมี 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ
1) การพิจารณาการระบุคำว่า “ไร่หมุนเวียน” ไว้ด้วย เพื่อทำให้มีกฎหมายที่คุ้มครองพื้นที่ไร่หมุนเวียน แม้ว่าในกฎหมายลำดับรองจะระบุเอาไว้อยู่แต่ว่าใช้คำ “แปลงรวม” ซึ่งประชาชนกังวลว่าคำว่า“แปลงรวม” อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ซึ่งจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียน เพราะไร่หมุนเวียนมีอัตลักษณ์เฉพาะและมีความมั่นคง หากเปลี่ยนจากไร่หมุนเวียนไปเป็นไร่ถาวรหรืออย่างอื่น อาจกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง
2) กรมอุทยานฯ ต้องดำเนินการสำรวจพื้นที่ไร่หมุนเวียนทั่วประเทศไทย ที่ยังมีปัญหาตกหล่นอยู่ กรมอุทยานฯ ต้องดำเนินการทบทวนเรื่องนี้ ซึ่ง กมธ. มีมติที่จะทำหนังสือไปยังกรมอุทยานฯ และคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทบทวนบรรจุคำว่า “ไร่หมุนเวียน” เอาไว้ในกฎหมายลำดับรองเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ุ