รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภาเรื่อง "วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568"
วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 - 2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภาเรื่อง "วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568" พร้อมทั้งบรรยายพิเศษเรื่อง "การเพิ่มขีดความสามารถและความอิสระของฝ่ายนิติบัญญัติในกระบวนการงบประมาณ" โดยมี นายศิโรจน์ แพทย์พันธุ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงาน
ในการนี้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายนิคม บุญวิเศษ และนายกฤดิทัช แสงธนโยธิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายต้นพงศ์ ตั้งเติมทอง รองเลขาธิการวุฒิสภา ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา บุคลากรทั้งสองสำนักงาน บุคคลในวงงานรัฐสภา และประชาชนผู้สนใจ ร่วมสัมมนา
โอกาสนี้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในการเปิดงานสัมมนาวิชาการฯ ในวันนี้ ซึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหาทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมการสัมมนา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนา หรือเสียงสะท้อนจากสาธารณชนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป โดยรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการออกกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย ควบคุม ตรวจสอบ แนะนำการบริหารงานของรัฐบาล รัฐสภาจึงมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี และเราเป็นผู้อนุมัติงบประมาณให้รัฐบาลนำไปใช้ เราจึงมีหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลการใช้งบประมาณด้วย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการประเมินผลว่างบประมาณแต่ละปีที่ได้รับไปนั้นถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และใช้หมดหรือไม่ โดยรัฐบาลจะมีเทคนิคการทำงานที่จะหลบเลี่ยงการตรวจสอบต่าง ๆ ดังนั้น การตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีความเข้มแข็งเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ สำนักงบประมาณของรัฐสภามีหน้าที่ในเชิงวิชาการในการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย และจัดทำรายงานด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลัง การงบประมาณตามเอกสารประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ บทบาทของสำนักงบประมาณของรัฐสภานั้นมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ และสามารถทำให้ สส. และ สว. นำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบและให้ความเห็นได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราจะต้องเป็นได้มากกว่านี้และต้องทำให้ได้มากกว่านี้ ต้องทำให้ สส. และ สว. รับรู้เรื่องของงบประมาณประจำปีได้มากขึ้น และไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายค้านเพียงฝ่ายเดียวในการตรวจสอบการใช้งบประมาณ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็จะต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ด้วย เพื่อประสิทธิภาพในการใช้เงินภาษีของประชาชน โดยหวังว่าการสัมมนาในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มขีดความสามารถของสภาในกระบวนการงบประมาณ จากนี้ไปสำนักงบประมาณของรัฐสภาจะต้องเปิดโลกทัศน์ของตนเอง สร้างตนเองให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ และยกระดับความเข้มข้นในการติดตามประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ให้ สส. และ สว. มีส่วนร่วมมากขึ้น และสามารถรับรู้เรื่องของงบประมาณประจำปี ว่าในแต่ละเดือนได้ใช้งบประมาณไปอย่างไร ซึ่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำ Big Data เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณในทุกภาคส่วนของประเทศ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งหากจัดทำ Big Data เสร็จก็จะเกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ทุกที่ของประเทศไทย จึงฝากไปยังประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้ดำเนินการตรวจสอบเพราะการตรวจสอบของคณะ กมธ. นั้นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังได้กล่าวถึงเรื่องของความเสมอภาคในการได้รับงบประมาณทั่วประเทศ ในทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ โดยสำนักงบประมาณของรัฐสภาควรจัดทำสถิติการใช้งบประมาณย้อนหลังในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ ได้รับรู้ว่าจังหวัดของตนได้รับงบประมาณเท่าไร และอีก 5 ปีข้างหน้าจะได้งบประมาณเท่าไร ซึ่งจะเชื่อมโยงกับบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติอีกข้อหนึ่งคือการให้มีประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านงบประมาณ ทำให้ประชาชนรู้ว่าหมู่บ้าน ตำบล อำเภอของเขาจะได้งบประมาณมาพัฒนาจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ รัฐสภาประจำจังหวัดที่ทางรัฐสภาจะเริ่ม 10 แห่ง ใน 5 ภูมิภาคนั้น ได้มีการเตรียมการไว้และตั้งเป้าว่าจะต้องดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเรื่องของงบประมาณนั้น สส. ในพื้นที่และทีมงานของ สส. สามารถประสานงานกับท้องถิ่นเพื่อดูงบประมาณของเขาว่าปีนี้ได้รับการจัดสรรเท่าไร หรือหากต้องการถนน ไฟฟ้า ประปา ก็สามารถเสนอมายังรัฐสภาประจำจังหวัดเพื่อตั้งงบประมาณในปีต่อไปได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นรากของรัฐสภาที่จะหยั่งลึกลงไปในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่าง ๆ หากสำนักงบประมาณของรัฐสภามีบทบาทได้มากกว่านี้ก็จะสามารถกระจายงบประมาณได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง สำหรับในเรื่องของการยกระดับขีดความสามารถของสำนักงบประมาณของรัฐสภานั้น สำนักงบประมาณของรัฐสภาจะต้องศึกษาและวิจัยตนเองและจัดทำแผนว่าการยกระดับตนเองขึ้นมาให้มีความสำคัญได้อย่างไร จะต้องมีกระบวนการที่สามารถอธิบายได้และมีเหตุผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ โดยตนพร้อมสนับสนุนให้สำนักงบประมาณของรัฐสภายกระดับความสำคัญและเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งต้องศึกษาในเรื่องของงบประมาณ กำลังคน หรือหลักการที่จะต้องขยาย การแก้กฎระเบียบ หรือมีหลักการใดที่เป็นอุปสรรค ก็จะทำให้สำนักงบประมาณของรัฐสภาเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต สามารถตรวจสอบงบประมาณของประเทศได้ มีการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อแผ่นดิน สำหรับเรื่องของการขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงบประมาณของรัฐสภานั้น สำนักงบประมาณของรัฐสภาจะต้องวิเคราะห์วิจัยว่าจะต้องทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ในอนาคตรัฐสภาจะมีการปรับปรุงโครงสร้างให้มีการบริหารจัดการเป็น 3 แท่ง โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาซึ่งจะเป็นหน่วยงานบริหารส่วนกลาง อาทิ เรื่องของงบประมาณของรัฐสภา ข้อมูลข่าวสาร สถานที่ การรักษาความปลอดภัย โดยรัฐสภาประจำจังหวัดจะขึ้นอยู่กับสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกว่า สำนักงบประมาณของรัฐสภาจะต้องบริหารจัดการองค์กรใหม่ ให้มีศักยภาพ มีความสำคัญ มีการเติบโต และมีปากมีเสียงในสังคมและประเทศ ก็จะทำให้สำนักงบประมาณของรัฐสภาเป็นที่เกรงใจและสามารถขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและศักยภาพในการใช้งบประมาณของแผ่นดิน และเน้นย้ำว่า รัฐสภาเป็นที่อนุมัติงบประมาณ แต่ทุกวันนี้ เราอยู่อย่างประหยัดและคืนงบประมาณให้ประเทศทุกปี โดยปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมทุก ๆ อย่าง ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะสามารถเพิ่มงบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา 4 ปีที่แล้ว สส. ไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปเรียนรู้ความเจริญก้าวหน้า และฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศอื่น ๆ ดังนั้น เราจะต้องนึกถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของเรา โดยในปีนี้เราได้งบประมาณมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.2 ของงบประมาณประเทศ ในขณะที่กระทรวงยุติธรรมและศาลได้รับงบประมาณจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัตินั้นได้งบประมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้อย่างไร ดังนั้น งบประมาณที่จะตั้งขึ้นในปี 2569 นั้น ขอให้เพิ่มกิจกรรม เพิ่มความสามารถของ สส. สว. ที่จะทำงานให้ประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งจุดอ่อนของเราคือการชี้แจงงบประมาณที่ยังไม่ชัดเจนในภารกิจที่จะต้องใช้เงิน เราจึงต้องเตรียมตัวและผลักดันให้เราได้รับงบประมาณให้มากที่สุดในทุกภาคส่วน รวมทั้งยังได้กล่าวถึงฝ่ายนิติบัญญัติของต่างประเทศที่สามารถบริหารงบประมาณได้ด้วยตนเอง แต่ทุกวันนี้รัฐสภาเราแพ้เทศบาล และ อบต. เพราะ อบต. ใช้เงินไม่หมดก็สามารถสะสมไว้ได้ แต่รัฐสภาต้องคืนเงินทุกปี เมื่อใช้ไม่หมด จึงเห็นได้ว่าเราไม่มีการบริหารจัดการตนเองมาอย่างยาวนาน ซึ่งเราสามารถสอบถามไปยังกระทรวงการคลังว่าเราสามารถตั้งงบประมาณเองได้หรือไม่ หรือหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา โดยให้ สส. ทุกพรรคการเมืองร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ. เพื่อให้เราสามารถตั้งงบประมาณของตนเองได้และไม่ต้องคืนเงินเหลือจ่ายให้กระทรวงการคลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ของฝ่ายนิติบัญญัติ และคิดว่าพรรคการเมืองทุกพรรคคงจะไม่ขัดข้อง โดยเมื่อเราสามารถบริหารงบประมาณได้ด้วยตนเอง ก็จะมีความคล่องตัวในการขยับขยายฝ่ายนิติบัญญัติให้มีความเจริญเติบโตมากขึ้นซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะต้องทำต่อไป ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 141 วรรคสอง ได้ระบุไว้ว่า รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ ดังนั้นรัฐสภาจึงไม่ควรถูกตัดงบประมาณ เพราะรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ โดยจากนี้ไปเราจะต้องเข้มแข็ง และภายในปี 69 ต้องการเห็นรัฐสภามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของรัฐสภานั้นจำเป็นต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ เราเป็นผู้อนุมัติงบประมาณ เราเป็นผู้ตรวจสอบ ควบคุม ติดตามการใช้งบประมาณ แต่ตัวเราเองก็ไม่แข็งแรง เราจึงต้องวิเคราะห์ วิจัยตนเองและเขียนแผนงานว่าเราจะต้องทำอย่างไร จะต้องมีบุคลากรเท่าไร ใช้งบประมาณเท่าไร และจะต้องอยู่ในแท่งใด หลักการใด ตนต้องการสำนักงบประมาณของรัฐสภาเป็นองค์กรหนึ่งที่น่าเชื่อถือ สามารถใช้อ้างอิงในเรื่องการใช้งบประมาณของประเทศในแต่ละปีได้ และประชาชนสามารถตรวจสอบงบประมาณของประเทศที่รัฐบาลใช้ ดังนั้น สถิติการใช้งบประมาณในจังหวัดต่าง ๆ ในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ สำนักงบประมาณของรัฐสภาจะต้องศึกษาว่าได้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ และให้ประชาชนได้รับรู้และเกิดจิตสำนึกในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการกระจายงบประมาณไปยังพื้นที่ของเขา นอกจากนี้ จะต้องวิเคราะห์ว่าอีก 5 ปี ของประเทศจะเดินไปในทิศทางใด หากเรามีการคาดการณ์ล่วงหน้า และมีสถิติก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้และมีจิตสำนึกที่จะเรียกร้องหาความเป็นธรรมในเรื่องงบประมาณ จึงขอฝากทุกท่านในเรื่องนี้ ขอให้การสัมมนาในวันนี้เป็นวันเริ่มต้นที่จะทำให้เราได้งบประมาณมากขึ้น มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของประเทศอย่างจริงจัง สร้างการรับรู้ให้แก่ สส. และ สว. มากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมกับงบประมาณของประเทศมากขึ้น และประเทศจะเข้าสู่แดนศิวิไลซ์
จากนั้น เป็นการนำเสนอรายงานวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดย นายชูเกียรติ รักบำเหน็จ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณของรัฐสภา นายฐากูร จุลินทร ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานวิเคราะห์งบประมาณ 1 นายณัฐวุฒิ อ่าวสกุล ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานวิเคราะห์งบประมาณ 4 น.ส.อุมาพร บึงมุม นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการพิเศษ น.ส.นิยดา ชูชาย นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการพิเศษ นายเกียรติกร อัตรสาร นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการ ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญประกอบด้วยเรื่องภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการคลัง การวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และการรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้ การสัมมนาวิชาการดังกล่าว สำนักงบประมาณของรัฐสภาจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและเผยแพร่รายงานวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นการสนับสนุนด้านวิชาการให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติ ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะในการนำข้อมูลไปพัฒนาการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อสนับสนุนฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายและผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภา คณะ กมธ. คณะอนุ กมธ. ข้าราชการ บุคคลในวงงานรัฐสภา สื่อมวลชนประชาชนทั่วไป และองค์กรวิเคราะห์งบประมาณของรัฐสภาในภูมิภาคอาเซียน จำนวนทั้งสิ้น 650 คน ซึ่งได้จัดการสัมมนาแบบ Onsite ณ ห้องประชุมสัมมนา และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meetings ตลอดจนการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Page "Parliamentary Budget Office : PBO" โดยจัดขึ้นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระรับหลักการ ระหว่างวันที่ 19 - 21 มิ.ย. 67