ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง พร้อมคณะ รับยื่นหนังสือจาก น.ส.อรุณี ศรีโต ผู้แทนเครือข่ายขับเคลื่อนสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการลาคลอด 180 วัน และลูกจ้างภาครัฐ และคณะ
วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.50 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายวรสิทธิ์ เลียงประสิทธิ์ ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
และ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง พร้อมคณะ รับยื่นหนังสือจาก น.ส.อรุณี ศรีโต ผู้แทนเครือข่ายขับเคลื่อนสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการลาคลอด 180 วัน และลูกจ้างภาครัฐ และคณะ เรื่อง ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่าด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์และวันการลาคลอด 180 วัน ลูกจ้างได้ค่าจ้างเต็ม ลูกจ้างชายสามารถใช้สิทธิลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ และการจ้างงานลูกจ้างภาครัฐ ด้วยสถานการณ์ด้านแรงงานและความจำเป็นในการคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการขยายสิทธิการลาคลอด และการจ้างงานลูกจ้างภาครัฐ จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาสแรกของปี 2566 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 70,080,000 คน โดยเป็นกำลังแรงงาน 40.28 ล้านคน แบ่งเป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.95 เป็นเพศชายร้อยละ 75.56 เป็นสตรีที่อยู่ในวัยแรงงาน อายุ 18 - 59 ปี 20,415,761 คน อยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 24.47 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 จำนวน 11.69 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.87 ล้านคน และมาตรา 40 จำนวน 10.91 ล้านคน และมีรายงานจากสำนักงานกองทุนประกันสังคม ตั้งแต่เดือนม.ค. – ก.ค. 66 ว่ามีผู้ใช้สิทธิในการคลอดบุตร 1,383,814 คน และใช้สิทธิในการสงเคราะห์บุตรจำนวน 1,268,775 คน โดยที่ผ่านมาภาคองค์กรแรงงาน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กและสตรี และเครือข่ายนักวิชาการด้านสิทธิแรงงานและสุขภาพ มีการรณรงค์และยื่นข้อเสนอในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ต่อรัฐบาล โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์การลาคลอดของแรงงานหญิง จาก 90 วัน เป็น 120 - 180 วัน จากการยื่นข้อเสนอขององค์กรแรงงาน และเครือข่ายด้านเด็กและสตรี อย่างต่อเนื่อง ทำให้ รมว.แรงงาน สมัยนายสุชาติ ชมกลิ่น ได้นำเสนอข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างและประกาศให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิในการลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเท่าเวลาที่ลาตามอัตราที่ได้รับอยู่ แต่ไม่เกิน 98 วัน ซึ่งเป็นการกำหนดตามมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในขณะที่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) แนะนำให้มารดาต้องเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องให้อาหารอื่นผสมอย่างน้อย 6 เดือน (180 วัน) เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็กและมารดา ในขณะที่สถานการณ์การลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตรในต่างประเทศและประเทศไทย พบว่ากลุ่มประเทศเอเชียส่วนใหญ่ให้สิทธิการลาคลอด 14 สัปดาห์ (98 วัน) ส่วนในประเทศแถบยุโรปเป็นกลุ่มที่ให้สิทธิการลาคลอดมากที่สุด อาทิ ประเทศอัลเบเนีย และออสเตรเลีย ให้สิทธิในการลาคลอด 1 ปีเต็ม (365 วัน) ในขณะที่ประเทศอาเซียนและเอเชีย อาทิ เวียดนามให้สิทธิในการลาคลอดได้ถึง 6 เดือน และไม่จำกัดจำนวนครั้งการคลอดบุตร ส่วนประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดน้อยที่สุดคือ ประเทศตูนีเซียที่ให้สิทธิลาคลอดเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น สำหรับประเทศไทยเมื่อเทียบกับการลาคลอดและจ่ายค่าจ้างเต็ม เมื่อดูลำดับในประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 4 ของประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดและจ่ายค่าจ้างเต็ม 98 วัน โดยลำดับที่ 1 คือ ประเทศเวียดนาม 180 วัน อันดับ 2 คือ ประเทศสิงคโปร์ 120 วัน และลำดับที่ 3 คือ ประเทศลาว 105 วัน ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
1. ขอให้คณะ กมธ. พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานการให้ลูกจ้างหญิงและชาย ได้สิทธิการลาคลอดเพิ่มขึ้นจาก 98 วัน เป็น 180 วัน ได้ค่าจ้างเต็ม โดยยึดหลัก WHO หรืออนุสัญญาของ ILO อนุสัญญา 183 ว่าด้วยการให้สิทธิลาคลอดได้เกิน 98 วัน
2. ขอให้คณะกมธ. พิจารณาแก้ไขหลักการ เหตุผล และคำนิยาม เรื่อง สิทธิการลาคลอด โดยนำเนื้อหารัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 48 ว่าด้วยสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร ย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของมารดา และผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอ และบุคคลผู้ยากไร้ที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ
3. ขอให้คณะ กมธ. และคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเพิ่มถ้อยคำในบทเฉพาะกาลในกฎหมาย โดยกำหนดระยะเวลาในการใช้กฏหมายได้จริง
4. ขอให้การใช้สิทธิลาคลอดที่ขยายเพิ่มตามกฎหมายกำหนด ต้องไม่ให้นายจ้างนำการเพิ่มวันลาคลอดมากกว่า 98 วัน ที่กฎหมายกำหนด มาเป็นเงื่อนไขในการประเมินการทำงาน การให้รางวัล การให้โบนัส หรือการทำให้การทำงานของลูกจ้างไม่ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ลูกจ้างทำงานอยู่
5. ขอให้คณะ กมธ. เร่งแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ โดยสนับสนุนการแก้ไขให้การจ้างงานของลูกจ้างภาครัฐทุกกลุ่มประเภทการจ้างงานของรัฐ ได้เข้าสู่การคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากลูกจ้างกลุ่มนี้เป็นประชาชนที่อยู่กับการจ้างงานกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่ควรจะได้รับความมั่นคงจากการทำงาน และสวัสดิการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานและระบบสุขภาพที่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
นายวรสิทธิ์ เลียงประสิทธิ์ กล่าวหลังรับยื่นหนังสือว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นความร่วมมือของทุกพรรคการเมือง โดยทุกคนมีความเห็นและเข้าใจในหลักการเดียวกันว่าต้องการทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการลาคลอด ซึ่งการขยายการลาคลอดนั้น คณะ กมธ. มีความต้องการที่จะขยายแต่ความท้าทายคือ เราจะเปลี่ยนผ่านเหตุการณ์นี้อย่างไรให้มีความราบเรียบที่สุด ให้มีการปรับตัว ทั้งผู้ประกอบการและพี่น้องแรงงานที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นควบคู่กันไป นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอให้คู่สมรสสามารถลาหยุดงานเพื่อดูแลบุตรได้ ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกคนที่ได้ให้ความสนใจและให้กำลังใจ โดยสัญญาว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เต็มความสามารถตามกรอบหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่
น.ส.วรรณวิภา ไม้สน กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นหมุดหมายแรกที่ตั้งไว้ในเรื่องของสิทธิการลาคลอดและการจ้างเหมาบริการภาครัฐ และอื่น ๆ ที่ยังมีการจ้างงานที่ไม่เท่าเทียม โดยบรรยากาศในการประชุมของคณะ กมธ. นั้นเป็นไปได้ด้วยดี หลายฝ่ายถกเถียงและเห็นพ้องต้องกันว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการจ้างงานในหน่วยงานภาครัฐให้เท่าเทียมกัน และประเด็นของวันลาคลอดที่จะต้องเพิ่มขึ้น