การเสวนา เรื่อง “พลเมืองยุคใหม่กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในปัจจุบัน” ในกิจกรรมการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ประจำปี 2567
วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสุพจน์ มิเถาวัลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ อ.ดร.ธนภูมิ ชาติดี คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนิสา โพธิ์พรม ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมเสวนา เรื่อง “พลเมืองยุคใหม่กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในปัจจุบัน” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองท่านได้ร่วมกันเล่าถึงประวัติความเป็นมา บทบาทหน้าที่การทำงานทางการเมือง การทำงานในคณะกรรมาธิการ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารความเดือดร้อนของประชาชนไปสู่การแก้ไข จากนั้นได้ร่วมกันอภิปรายถึงแนวคิดการมีส่วนทางการเมืองในมุมมองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนักวิชาการ โดยมุมมองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมองว่า ถึงแม้ประชาชนทั่วไปจะไม่ได้มีบทบาทเป็นนักการเมือง แต่ก็สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยการใช้สิทธิที่ตนพึงได้รับ ประกอบกับติดตามสถานการณ์ทางสังคมหรือปัญหาในพื้นที่ของตนเอง และดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไปส่วนมุมมองของนักวิชาการมองว่า ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พลเมืองสามารถรับข้อมูลข่าวสารแทบจะทันที แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมาให้ตกผลึกเท่าที่ควร ดังนั้นจึงควรสร้างความตะหนักรู้ให้กับพลเมืองในการเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้ตั้งคำถามแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนประเด็นต่าง ๆ ที่เยาวชนให้ความสนใจ
จากนั้น ในช่วงบ่าย เวลา 13.00 นาฬิกา เป็นการจัดกิจกรรมแบ่งกลุ่มระดมสมอง เรื่อง “บทบาทของเยาวชนพลเมืองในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยวิทยากรจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นภาพรวมและทบทวนองค์ความรู้ที่ได้รับจากการฟังบรรยายและเสวนา โดยสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการสะท้อนปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแนวทางแก้ไขอย่างยั่นยืนโดยการมีส่วนร่วมของเยาวชน