ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน พร้อมด้วย นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.พรรคก้าวไกล และนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาคณะกมธ. ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการลงโทษ
วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน พร้อมด้วย นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.พรรคก้าวไกล และนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาคณะกมธ. ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการลงโทษ โดยการเปลี่ยนจากการกักขังแทนค่าปรับ เป็น การบำเพ็ญประโยชน์แทนค่าปรับ ถือเป็นทางเลือกของผู้กระทำผิดที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กฎหมายจึงมีทางเลือกให้ผู้กระทำผิดสามารถได้รับการกักขังแทนค่าปรับในอัตราวันละ 500 บาท เปลี่ยนเป็น การทำงานบริการสังคมให้แก่สังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณกุศล ที่ไม่แสวงหาผลกำไรแทนการจ่ายค่าปรับได้ โดยที่ในการทำงาน บริการสังคม จะไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง โดยกฎหมายมีการบัญญัติรับรองไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน และไม่ว่าในกรณีความผิดกระทงเดียวหรือหลายกระทง ห้ามกักขังเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีก็ได้ สำหรับมาตรา 30/1 ที่วางหลักว่า กรณีที่ศาลพิพากษาปรับ ผู้ต้องโทษปรับไม่ใช่นิติบุคคลและไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ หรือหากในขณะพิพากษาคดีศาลเห็นว่า ผู้ต้องโทษปรับรายใดอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ตามมาตรานี้ได้ และหากผู้ต้องโทษปรับยินยอม ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้ หากศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาต ให้ผู้ต้องโทษไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติ จากนั้นจึงเริ่มทำงานบริการสังคม โดยการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับนี้จะใช้อัตรา วันละ 500 บาท หากศาลสั่งปรับ 5,000 บาท ต้องทำงานบริการสังคม 10 วันแทนการจ่ายค่าปรับทั้งหมด แต่การทำงาน 1 วัน ไม่ใช่ทำ 24 ชั่วโมง แต่จะขึ้นอยู่กับงานแต่ละประเภทว่าทำกี่ชั่วโมงจึงจะนับว่าทำงาน 1 วัน อาทิ งานช่วยเหลือ ดูแล อำนวยความสะดวก หรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็ก และงานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา ทำ 2 ชั่วโมงจะนับเป็น 1 วัน งานวิชาชีพ งานช่างฝีมือ หรืองานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น งานช่างต่างๆ ทำ 3 ชั่วโมงจะนับเป็น 1 วัน ส่วนงานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำ 4 ชั่วโมงจะนับเป็น 1 วัน ซึ่งขณะนี้ สส. กำลังดำเนินการร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30 จากการกักขังแทนค่าปรับเป็นการบำเพ็ญประโยชน์แทนค่าปรับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนวัยแรงงาน หรือเป็นหัวหน้าครอบครัวให้ไม่ต้องโดนกักขัง ไม่ทำให้ขาดรายได้ และ ไม่ทำให้เกิดปัญหาครอบครัว โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป