รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเพื่อการยกร่างประมวลกฎหมายแรงงาน
วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.45 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเพื่อการยกร่างประมวลกฎหมายแรงงาน โดยมี นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ. การแรงงาน กล่าวรายงาน ในการนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน ผู้แทนกลุ่มนายจ้าง และผู้แทนกลุ่มลูกจ้าง เข้าร่วมสัมมนา
โอกาสนี้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน กล่าวในพิธีเปิดใจความตอนหนึ่งว่า ขอขอบคุณ ประธานคณะ กมธ. การแรงงาน ที่ได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง โดยไม่อาจปฏิเสธได้ ว่ากฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความสงบและความเป็นระเบียบขึ้นในสังคม โดยผู้ทำงานซึ่งถือเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ทำงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการกำหนดกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ดังนั้น ในฐานะที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติ ที่มีหน้าที่พิจารณาโดยตรงในการตรากฎหมาย การยกระดับความคุ้มครองให้แก่คนทำงาน โดยการปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสภาวการณ์ในปัจจุบันนั้น จึงเป็นการดำเนินการที่เป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ว่า องค์กรด้านนิติบัญญัติยังเป็นที่พึ่งให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ทั้งนี้ ขอให้ผู้เข้าร่วมสัมมนานำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่และต่อยอดความคิดในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายแรงงานต่อไป
ทั้งนี้ มีการอภิปรายในหัวข้อเรื่อง การยกระดับระบบแรงงานไทยกับการยกร่างประมวลกฎหมายแรงงาน โดยมีวิทยากร ได้แก่ รศ.เอกพร รักความสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายปนิธิ ศิริเขต ที่ปรึกษาประจำคณะ กมธ.การแรงงาน นายกรชัย แก้วมหาวงศ์ ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และ น.ส.อัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย
สำหรับการสัมมนาดังกล่าว จัดโดย คณะ กมธ.การแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างประมวลกฎหมายแรงงานบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องในวงงานด้านแรงงาน ตลอดจนเสริมสร้างบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการการยกร่างเสนอกฎหมาย