ประธานคณะ กมธ. การทหาร มอบหมายให้ โฆษกคณะ กมธ. การทหารและคณะ แถลงข่าว เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะ กมธ. การทหาร มอบหมายให้นายชยพล สท้อนดี โฆษกคณะ กมธ. การทหารและคณะ แถลงข่าว เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 กฎหมายดังกล่าวนี้ มีการใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทำให้มีบทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย และไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับในศาลพลเรือน อีกทั้งปัจจุบันโครงสร้างและกิจการทางทหาร ตลอดจนเขตพื้นที่ทหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับหลักการศาลทหารสากล ดังนั้น คณะกมธ. จึงได้ตั้งคณะอนุกมธ. ศึกษาและแก้ไขกฎหมายอันเกี่ยวกับศาลทหาร เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ที่มีนายเอกราช อุดมอำนวย เป็นประธานคณะอนุกมธ.และทราบว่า กระทรวงกลาโหม มีแนวทางจะเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร ในทำนองเดียวกัน สำหรับการศึกษาของคณะ อนุกมธ. ได้มีสส.จากทุกพรรคการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว จึงได้พบปัญหาจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 หลายประเด็น โดยมีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ เช่น การกำหนดให้คณะกรรมการตุลาการทหาร (กตท.) เป็นผู้วางระเบียบกำหนดคุณสมบัติ พื้นความรู้ หน้าที่และอำนาจของตุลาการพระธรรมนูญ โดยแยกออกจากตำแหน่งอื่น ๆ ที่เป็นอำนาจของกระทรวงกลาโหม เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญซึ่งควรมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ เพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างเป็นธรรมและมีความเป็นอิสระ ปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ปัญหาเขตอำนาจของศาลทหาร เป็นต้น และในประเด็นของบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่มิได้ถูกดำเนินคดีโดยศาลและระบบการพิจารณาพิพากษาที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ซึ่งคณะอนุกมธ. ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นมาตรการแก้ไขทางกฎหมายในรายงานของคณะ อนุกมธ. ดังกล่าว พร้อมจะนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร เป็นการต่อไป