โฆษกคณะ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐกิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วย นายวิศรุต สวัสดิ์วร ที่ปรึกษาประธานคณะ กมธ. และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมคณะ กมธ.
วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ โฆษกคณะ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วย นายวิศรุต สวัสดิ์วร ที่ปรึกษาประธานคณะ กมธ. และคณะ ร่วมกันแถลงข่าว ผลการประชุมคณะ กมธ.ในวันนี้ (22
ส.ค.67) พิจารณาเรื่องร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนพูงอย ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จ.อุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งความมั่นคงของรัฐที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ต่อคณะ กมธ.ได้แก่ 1. ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ 2. ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 3. ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 4. ผู้แทนพลังงาน จ.อุบลราชธานี 5. ผู้ร้องเรียน: นางสาวสดใส สร่างโศรก 6.ผู้แทนบริษัทเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน
ซึ่งบริษัทเอกชน ฯ ได้ยืนยันว่ามีการประสานกับทุกหน่วยงานรัฐของไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและจัดทำการประเมินผลกระทบตามหลักเกณฑ์และข้อสังเกตของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งโครงการเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-off-river) พร้อมมีระบบสะพานปลา ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาในแม่น้ำ นอกจากนี้ยังยืนยันว่าโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการอุทกภัย จ.อุบลราชธานี
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่าโครงการเขื่อนพูงอย ตอนนี้มีเพียงการศึกษาผลกระทบในขอบเขตของพื้นที่ สปป. ลาว เท่านั้น และยังอยู่ในขั้นตอนที่กำลังรวบรวมข้อมูล ก่อนมานำเสนอให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย พิจารณาร่วมกัน โดยยังต้องรับฟังผลกระทบข้ามพรมแดนจากสมาชิกประเทศอื่นร่วมด้วย
ด้านกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย มีข้อสังเกตเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งแม้ สปป.ลาว จะเป็นเจ้าของโครงการแต่ก็มีพันธกรณีตามกระบวนการของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยต้องเคารพหลักความเท่าเทียมกันของรัฐ คือ การกระทำใด ๆ จะต้องไม่กระทบต่อรัฐอื่น
ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ยืนยันว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีการทำข้อตกลง ซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการเขื่อนพูงอยแต่อย่างใด และหากจะมีการซื้อขาย จะต้องมีการพิจารณาผ่านคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องริเริ่มจากทางการ สปป.ลาว เป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามา เพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกันต่อไป
ด้าน คณะ กมธ.ได้มีข้อกังวลถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าด้านการลงทุนจัดหาพลังงานเพิ่มเติมในลักษณะนี้ โดยจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศและประชาชนตามแนวชายแดนไทย - สปป.ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่จะกระทบต่อแนวเขตแดนของไทย รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตท้องถิ่น พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพิจารณาผลกระทบของโครงการเพื่อเป็นช่องทางรับฟังและสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง