การประชุมสมาชิกรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยสาธารณสุขโลก (Asia-Pacific Parliamentarian Forum on Global-Health: APPFGH) ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 2-8 กันยายน 2567 ณ กรุงพอร์ตวิลา สาธารณรัฐวานูอาตู
เมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน 2567 ระหว่างเวลา 8.30-17.55 น. คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมาชิกรัฐสภาเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยสาธารณสุขโลก (Asia-Pacific Parliamentarian Forum on Global-Health: APPFGH) ครั้งที่ 8 เป็นวันแรก ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุม คือ “บุคลากรสุขภาพ“
การประชุมเริ่มขึ้นในเวลา 8.30 น. เป็นพิธีเปิดการประชุม โดยมีการกล่าวเปิดการประชุมโดย ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐวานูอาตู/ประธานการประชุม APPFGH ครั้งที่ 8 และ ประธานการประชุม APPFGH และกล่าวกล่าวต้อนรับ โดยผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค WHO ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก และ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค WHO ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกล่าวแสดงความยินดี โดย Hon John Still Tariqetu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐวานูอาตู โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของบทบาทสมาชิกรัฐสภาต่อการส่งเสริมประเด็นด้านบุคลากรสุขภาพ จากนั้นได้แนะนำตัวผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่านและถ่ายภาพหมู่
ต่อมาเวลา 9.40-10.40 น. เป็นการประชุมช่วงที่ 1 หัวข้อ: การกำหนดแนวทางด้านบุคลากรสุขภาพในอนาคตของภูมิภาคแปซิฟิก เริ่มจากนาย Lluis Vinals Torres ผู้อำนวยการฝ่ายการบริการและระบบสุขภาพ WHO ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก นำเสนอต่อที่ประชุม โดยเน้นย้ำถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสุขภาพและโอกาสทางการศึกษา การเพิ่มขึ้นของโรคติดต่อเรื้อรัง หรือ NDCs ตลอดจนกฎระเบียบและการกำหนดนโยบายต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการวางแนวทางของสาธารณสุขมูลฐานที่ชัดเจน และสมาชิกรัฐสภามีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมการปฏิรูปบุคลากรสุขภาพ จากนั้น ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนแต่ละประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการวางแนวทางด้านบุคลากรสุขภาพ
เวลา 11.10-12.10 น. เป็นการประชุมช่วงที่ 2 หัวข้อ: “ความท้าทายต่อเนื่องและประเด็นใหม่ด้านบุคลากรสุขภาพ“ โดย เริ่มจากการนำเสนอของดร. Masahiro Zakoji รักษาการผู้ประสานงาน WHO ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก ในประเด็นความท้าทายและประเด็นใหม่ด้านบุคลากรสุขภาพ และการนำเสนอของนางสาว Salote Puloka ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ราชอาณาจักรตองกา ในประเด็นด้านการบริการของบุคลากรสุขภาพ
จากนั้น เป็นการอภิปรายผ่านการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม ซึ่ง นายทศพร เสรีรักษ์ หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้กล่าวต่อที่ประชุมในการประชุมนี้ด้วย โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสุขภาพที่นับว่าเป็นรากฐานของเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและความเท่าเทียมกัน และจำเป็นต้องมีการยกระดับการบริหารจัดการบุคลากรสุขภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสุขภาพ และการกระจายตัวอย่างไม่สมดุลของบุคลากรสุขภาพในพื้นที่เมืองและชนบท อย่างไรก็ดี ไทยได้กำหนดแผนกลยุทธ์ระยะยาว 10 ปีเพื่อปฏิรูปบุคลากรสุขภาพ ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตบุคลากรได้เพิ่มขึ้น 62,000 คน และมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การเข้าถึงการบริการ และเสริมสร้างการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาชิกกรรมาธิการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขและความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ การพัฒนาทันตแพทย์ การศึกษาการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วย และปัญหาการโฆษณายาที่กล่าวสรรพคุณเกินจริง สุดท้ายได้เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาใช้กลไกด้านรัฐสภาและมีส่วนร่วมในความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อประกันการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของประชาชนที่เท่าเทียมกันและเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ช่วงบ่าย เวลา 13.25-14.45 น. เป็นการประชุมช่วงที่ 3 หัวข้อ: “การสร้างสรรค์สิ่งใหม่และการวางแผนเพื่ออนาคต“ โดยนำเสนอภาพรวม โดย 1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Martin Fletcher ผู้บริหารของหน่วยงานกฎข้อบังคับด้านสุขภาพของออสเตรเลีย ในประเด็นบทบาทของกฎข้อบังคับและข้อกฎหมาย: การใช้กฎข้อบังคับเพื่อสุขภาพและระบบสุขภาพที่เหมาะสม 2) ดร. Lucas de Toca ทูตสุขภาพระดับโลกของออสเตรเลีย ในประเด็นประสบการณ์ในการพัฒนาและการส่งเสริมบุคลากรสุขภาพท้องถิ่น และ 3) ดร. Yi Ling Chow ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ในประเด็นแนวคิดและนวัตกรรมของสุขภาพทางไกลเพื่อประยุกต์ใช้ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ
จากนั้น ในเวลา 15.20-17.55 น. เป็นการประชุมช่วงที่ 4 หัวข้อ: “เศรษฐศาสตร์การเมืองและการใช้ประโยชน์จากบทบาทที่เป็นเอกลักษณ์ของสมาชิกรัฐสภา โดย Dr. Saia Ma’u Piukala ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค WHO ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกได้กล่าวถึงบทบาทของสมาชิกรัฐสภา 2) เซอร์ David Carter อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภานิวซีแลนด์ นำเสนอในประเด็น ประสบการณ์ของภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและบุคลากรสุขภาพ และ 3) นางสาว Dame Carol Kidu อดีตรัฐมนตรีบริการชุมชน, รัฐสภาแห่งรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี นำเสนอในประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนและบุคลากรด้านบุคลากรสุขภาพ
จากนั้น เป็นการแบ่งกลุ่มอภิปรายแบบปิดเฉพาะสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น จำนวน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1: ประสบการณ์ของรัฐสภาต่อการสนับสนุนการปฏิรูประบบสุขภาพ และกลุ่มที่ 2: การมีส่วนร่วมของชุมชนและบุคลากรสุขภาพ และการนำเสนอแบบเต็มคณะ
เครดิต : ข่าวโดยกลุ่มงานกิจการพิเศษ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร