ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงกรณีการประชุมสภา เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ย. ๖๒ ที่มีการพิจารณาญัตติด่วนในกลุ่มให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. ตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๑๐ นาฬิกา ณ จุดแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา
เกียกกาย นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงกรณีการประชุมสภา
เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ย. ๖๒ ที่มีการพิจารณาญัตติด่วนในกลุ่มให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจาก
ประกาศคำสั่งและการกระทำของคสช. ตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗
เมื่อการอภิปรายได้สิ้นสุดลงได้มีการลงมติว่าเห็นสมควรตั้งคณะกรรมาธิการหรือไม่ ซึ่งเสียงสนับสนุน
ให้ตั้งคณะกรรมการ ๒๓๖ เสียง ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนได้ ๒๓๑ เสียง ต่างกัน ๕ เสียง โดยฝ่าย
รัฐบาลได้อาศัยข้อบังคับการประชุมข้อที่ ๘๕ ที่ระบุว่า เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ ๘๓ (๑)
คือการใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานกำหนดแล้ว ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับใหม่
โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็น
วิธีตามข้อ ๘๓ (๒) คือ ให้เรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิกให้ออกเสียงลงคะแนนเป็น
รายคนตามวิธีที่ประธานกำหนด เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่ายี่สิบห้าคะแนนจะขอให้มีการนับ
คะแนนเสียงใหม่ไม่ได้ เมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ ๘๓ (๒) แล้ว จะขอให้มีการนับคะแนนเสียง
ใหม่อีกไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลเสนอให้นับคะแนนใหม่และมีผู้รับรองถูกต้องคือมากกว่า ๒๐ คน และคะแนนเสียง
ต่างกัน ๕ คะแนนซึ่งไม่เกิน ๒๕ คะแนน เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม โดยการนับคะแนนเสียงใหม่
คือการลงคะแนนใหม่โดยใช้วิธีเรียกชื่อเป็นรายบุคคล จึงเห็นได้ชัดว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ปฏิบัติ
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๑๙ ที่ระบุว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการของ
สภาให้เป็นไปตามข้อบังคับ อย่างถูกต้อง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการเสนอให้นับคะแนนใหม่
ตามข้อบังคับที่ ๘๕ ประธาน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องดำเนินการตามข้อบังคับ