นายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าว
วันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา
ณ จุดแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา
นายแพทย์ สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าว
จำนวน ๓ เรื่อง ดังนี้
๑. เรื่องการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติ ขอเปิดอภิปราย
ทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร
ได้มีคำสั่งนัดประชุมในวันที่ ๒๔ - ๒๖ ก.พ. ๖๓ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๓๐ น. เป็นต้นไป
หากยังไม่เสร็จสิ้นก็สามารถอภิปรายต่อในวันที่ ๒๗ ก.พ. ๖๓ และลงมติในวันที่
๒๘ ก.พ. ๖๓ ได้เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๑ วรรค ๓บัญญัติว่า
การลงมติมิให้กระทำในวันเดียวกันกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุดลง
๒. กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร มีมติให้
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พ้นจากการเป็นประธาน คณะ กมธ. ปปช.
ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๑๐๘ (๕)
บัญญัติว่า กมธ. จะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้พ้น
จากตำแหน่ง ซึ่งข้อกล่าวหาในญัตตินี้คือล่วงละเมิดพระบรมราชวินิจฉัย
เกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อรับญัตติดังกล่าวมาแล้วประธาน
สภาผู้แทนราษฎรได้เชิญผู้เสนอญัตติมาเพื่อไกล่เกลี่ยและประนีประนอม
แต่ผู้เสนอญัตติไม่ขอถอน จึงได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมในเรื่องที่
เสนอใหม่ ข้อ ๖.๙ และ
๓. เมื่อวันที่ ๖ ก.พ. ๖๓ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรม
การเลือกปฏิบัติการรับหนังสือร้องเรียนและการพูดที่ไม่เหมาะสมของ
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธาน กมธ. ปปช. โดยเรื่องดังกล่าว
ต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือคณะกรรมการจริยธรรมของ
สภาผู้แทนราษฎร แต่โดยขณะนี้ยังไม่มีคณะกรรมการชุดดังกล่าว
เนื่องจากข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และกรรมาธิการ ซึ่งสภาพิจารณาเสร็จแล้ว รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
แล้วจึงตั้งคณะกรรมการจริยธรรม ที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร
เป็นประธานกรรมการ และจะได้ดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยต่อไป