นายนิติผล ผิวเหมาะ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะ กมธ. วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับยื่นหนังสือจากนายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life เรื่อง ขอให้ตัดงบประมาณโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จ.สงขลา ระยะที่ 3
วันอังคารที่ 9 มกราคม 2567 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายนิติผล ผิวเหมาะ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะ กมธ. วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับยื่นหนังสือจากนายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life เรื่อง ขอให้ตัดงบประมาณโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราช จ.สงขลา ระยะที่ 3 รวมทั้งงบประมาณกลุ่มจังหวัดปัตตานี และตรวจสอบการตั้งงบประมาณว่าจ้างศึกษาโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง กลุ่ม Beach for life เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ติดตามการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะ กมธ.ฯ ปรากฎว่ามีงบประมาณเกี่ยวกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 3 โครงการ คือ
1. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ (ระยะที่ 3) พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช เทศบาลต.สทิงพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ตั้งงบประมาณ ปี 63 - 67 วงเงิน 76,862,200 บาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยโครงการดังกล่าวไม่มีการดำเนินโครงการแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 ให้ระงับการดำเนินโครงการไว้เป็นการชั่วคราว จึงอยากให้ทาง กมธ. พิจารณาตัดงบประมาณส่วนนี้เพราะศาลปกครองสงขลาระบุชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณชายหาดมหาราชไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งหากดำเนินโครงการนี้ไปจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำ 2567 ให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง
2. งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งระบุการขอรับงบประมาณเพื่อการจ้างออกแบบและศึกษาการป้องกันชายฝั่งจำนวน 6 โครงการ เป็นโครงการผูกพันต่อเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 4 โครงการ และเป็นโครงการตั้งใหม่ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 2 โครงการ โดยทั้งหกโครงการไม่ปรากฏว่ามีการระบุพื้นที่ศึกษาและออกแบบแต่อย่างใดระบุแต่เพียงระยะโครงการและระบบกลุ่มหาดซึ่งมีขอบเขตที่กว้างมากจึงทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นการศึกษาออกแบบเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ใดซึ่งการตั้งงบประมาณลักษณะนี้อาจเป็นการทำให้เกิดการสุ่มหาพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหรือโครงสร้างป้องกันชายฝั่งโดยไม่มีความจำเป็นเหมือนอย่างที่ผ่านมาและจะทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่
3. งบประมาณกลุ่มจังหวัดของจังหวัดปัตตานีในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งมีการขอรับงบประมาณจำนวน 2 โครงการ ได้แก่โครงการจัดทำปะการังเทียมรูปโดมขนาดความสูง 1.5 เมตร ฐานหกเหลี่ยมกว้าง 1.8 เมตร จำนวน 19 ช่อง จำนวน 20,000,000 บาท และโครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ระยะทางไม่น้อยกว่า 3,400 เมตร โดยใช้ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้วยาว 5 เมตร จำนวน 15,730,000 บาท ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นการตั้งงบประมาณในปี 2567 เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เมื่อโครงการดังกล่าวเป็นโครงการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามแนวปฏิบัติของหน่วยงานก่อนขอรับงบประมาณต้องเสนอโครงการมายังคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น ต่อโครงการมาตรการระเบียบหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชาย พ.ศ. 2558 ก่อนเสนอโครงการไปยังสำนักงบประมาณแต่พบว่าทั้งสองโครงการภายใต้กลุ่มจังหวัดนั้นยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานฯ แต่อย่างใด จึงต้องตัดงบประมาณโครงการดังกล่าวเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของหน่วยงานที่กำหนดให้ปฏิบัติในการเสนอขอรับงบประมาณ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอให้ กมธ. ดำเนินการตัดงบประมาณ และขอให้เรียกกรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่ง ขอรับงบประมาณในการว่าจ้างศึกษาและออกแบบการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจำนวน 6 โครงการ ในปีงบประมาณ 2567 ดำเนินการชี้แจงและให้ข้อมูลถึงความจำเป็นและพื้นที่ในการดำเนินการศึกษาต่อ กมธ. เพื่อให้ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง
ด้านนายนิติพล ผิวเหมาะ กล่าวว่า ในฐานะ กมธ.ได้เข้ามาดูในส่วนของงบประมาณที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ที่มีประเด็นปัญหา ตนจะนำเอกสารที่ได้รับในวันนี้ศึกษารายละเอียดและติดตามต่อไป ในส่วน ประเด็นของสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจะอยู่ในการพิจารณาสัปดาห์แรก ๆ ประเด็นที่เป็นปัญหา กมธ. จะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์และเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด