นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข และคณะ แถลงข่าวกรณีที่คณะ กมธ. ได้ศึกษาเรื่อง นักทัศนมาตร ซึ่งเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายตา คล้ายกับจักษุแพทย์
วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 13.50 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข และคณะ แถลงข่าวกรณีที่คณะ กมธ. ได้ศึกษาเรื่อง นักทัศนมาตร ซึ่งเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายตา คล้ายกับจักษุแพทย์ โดยขณะนี้ มี 4 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งผลิตนักทัศนมาตร ได้จำนวน 300 คน เมื่อจบการศึกษามาแล้ว ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ มีเพียงใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพได้ ทำให้ไม่มีความสะดวกในการให้การรักษาประชาชนผู้มีปัญหาหรือป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับตา และเมื่อปีที่ผ่านมาสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ได้เสนอร่าง พ.ร.ฎ.ให้สาขาทัศนมาตรเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ เพื่อให้มีกฎหมายการรับรองนักทัศนมาตร โดยที่มาตรา 5 ( 8 ) มาตรา 14 ( 8 ) มาตรา 19 และมาตรา 33 ( 8 ) แห่งพ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 กำหนดให้การประกอบโรคศิลปะในสาขาอื่นที่เพิ่มขึ้นต้องกำหนดโดย พ.ร.ฎ. ซึ่งสาขาทัศนมาตรเป็นสาขาหนึ่งที่เป็นการกระทำต่อมนุษย์หรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการวินิจฉัยความผิดปกติของสายตามนุษย์จากการมองเห็นและการแก้ไขพื้นฟูความผิดปกติของการมองเห็นด้วยกรรมวิธีการใช้แว่นตา เลนส์สัมผัส และการฝึกการบริหารกล้ามเนื้อตา โดยมีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือยา ตามที่รัฐมนตรีประกาศ กำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ หากได้มีการกำหนดให้สาขาทัศนมาตรเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่รับการบริการจากผู้ที่ประกอบวิชาชีพเฉพาะด้าน สมควรกำหนดให้สาขาทัศนมาตรเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ฎ.นี้ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว โดยคณะ กมธ. ยืนยันว่า จะสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและผู้ประกอบโรคทัศนมาตรต่อไป