นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ และคณะ แถลงข่าว ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหายางพาราเถื่อน
วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหายางพาราเถื่อน
โดยนายรังสิมันต์ โรม กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ ถือเป็นการแถลงข่าวครั้งสำคัญของคณะ กมธ. ซึ่งเมื่อวานนี้ (15 ก.พ. 67) คณะ กมธ. ได้มีการประชุมเกี่ยวกับปัญหายางพาราผิดกฎหมายที่มีการลักลอบข้ามแดนในฝั่ง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นแรก คือ ยางพาราที่นำผ่านแดนจากฝั่งประเทศเมียนมาส่งไปด่านสะเดา จ.สงขลา และส่งไปยังประเทศมาเลเซีย
ประเด็นที่สอง คือ ยางพาราสวมสิทธิ์ เนื่องจากในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยมีการคำนวณจำนวนยางพาราในแต่ละพื้นที่ แต่ปรากฏว่ามีการนำยางพาราที่ผิดกฎหมายเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นยางไทย เพื่อนำมาใช้ในประเทศ
ทั้งสองประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อราคายางพาราในตลาดไม่สะท้อนกับความเป็นจริง เพราะมีการนำยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศ ประเด็นที่คณะ กมธ. ให้น้ำหนักมากที่สุดคือ ปัญหายางพาราผ่านแดนที่ส่งจากประเทศเมียนมาและส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย สาเหตุที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากตัวเลขของยางพาราที่นำเข้ามาเป็นตัวเลขที่สูงมาก ตัวเลขจากศุลกากรรายงานว่ามีการนำยางพาราผ่านแดนเข้ามามากกว่า 51,000 ตัน แต่ในความเป็นจริง ได้รับข้อมูลในพื้นที่ว่าตัวเลขการนำยางพาราเข้ามาสูงกว่านั้น 140,000 ตัน ซึ่งส่งผลกระทบในพื้นที่อย่างร้ายแรง เพราะยางพาราที่นำผ่านแดนเข้ามาไม่ได้คุณภาพ ส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบเชิงระบบนิเวศ และทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว นอกจากปัญหาเรื่องกลิ่นที่ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่แล้ว ยังพบว่าด่านเจดีย์สามองค์ในฝั่งเมียนมาปิด แต่ฝั่งไทยเปิดและเปิดเป็นด่านชั่วคราวที่มีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว แต่ในความเป็นจริงนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เพราะด่านฝั่งเมียนมาปิด แม้ฝั่งไทยจะเปิด
คณะ กมธ. ได้ศึกษาเรื่องนี้และได้เชิญกรมศุลกากร กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาหารือ แต่กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานให้ความร่วมมือกับคณะ กมธ. น้อยที่สุด และไม่ให้ความพยายามในการแก้ปัญหา
ซึ่งกรมศุลกากรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ดังนั้น คณะ กมธ. จึงจะเชิญนายกรัฐมนตรี มาร่วมรับฟังปัญหาด้วย
สำหรับข้อสรุปสำคัญที่คณะ กมธ. ได้ข้อสรุป เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคือ การนำยางพาราผ่านแดนจาก อ.สังขละบุรี ไปยังที่ด่านสะเดา ไม่สามารถทำได้ นั่นหมายความว่าตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาที่มีการนำผ่านประเทศไทย โดยเสียค่าธรรมเนียมจำนวน 500 บาท เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเวลาร่วมปีความเสียหายที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหายที่ร้ายแรง ดังนั้น คณะ กมธ. ได้พยายามหารือกับทุกฝ่าย และได้ข้อสรุปว่า จะมีการสกัดกั้นปราบปรามยางพาราที่ผิดกฎหมายที่ผ่านแดนเข้ามา โดยได้หารือกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และพูดคุยกับ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ข้อสรุปนี้ถือเป็นข่าวดี และเป็นความหวังว่ายางพาราผ่านแดนจากฝั่งเมียนมาจะไม่เกิดขึ้นและจะมีการสกัดกั้นอย่างจริงจัง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า คณะ กมธ.จะนัดประชุมในเรื่องนี้เพื่อรับฟังรายงานจากฝ่ายต่าง ๆ ว่ามีการดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง และในวันที่ 4 - 5 มี.ค. 67 คณะ กมธ.จะลงพื้นที่ อ. สังขละบุรี โดยได้เชิญ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อติดตามความคืบหน้าว่ามติต่าง ๆ ที่คณะ กมธ. เสนอแนะไปได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างไร นี่คือการเริ่มต้นครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหายางพาราที่ถูกละเลย และส่งผลให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำมา เคยมีการพูดกันหลายครั้งว่าปัญหาส่วนหนึ่งของเรื่องนี้เกิดจากยางพาราเถื่อน วันนี้ทาง คณะ กมธ. สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าด้วยความร่วมมือของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีหนทางในการแก้ปัญหายางพารา และนำไปสู่การยกระดับราคายางพาราภายในประเทศได้ การแก้ปัญหายางพารามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาในส่วนของการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย และในการประชุม
ครั้งถัดไป คณะ กมธ. ได้ทำหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง มาร่วมหารือ เพราะสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในกรมศุลกากร โดยจะส่งข้อสังเกตต่าง ๆ เพื่อให้ ปปช. รับไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ คณะ กมธ. ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการทำงานบูรณาการร่วมกันในการสกัดกั้นยางพาราเถื่อน ณ ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เราทุกคนต้องช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน
นายปิยรัฐ จงเทพ โฆษกคณะ กมธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า อ.สังขละบุรี เติบโตได้ด้วยธุรกิจทางการท่องเที่ยว และบริเวณจุดดังกล่าวถูกตั้งให้เป็นด่านชั่วคราวในการท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นด่านด้านการค้าโดยตรง ดังนั้น คณะ กมธ.ได้สอบถามไปยังนายอำเภอสังขละบุรี ซึ่งนายอำเภอยืนยันว่าต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ท่านเป็นผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาจึงไม่สามารถทวงติงเรื่องนี้ได้โดยตรง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในภาคนโยบายของรัฐ และต้องทำงานอย่างบูรณาการของทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เพื่อให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมายจริง ๆ และเป็นเรื่องที่เกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่จึงฝากเตือนพี่น้องประชาชน อ.สังขละบุรีว่า วันนี้คณะ กมธ. ได้รับเรื่องร้องเรียนของท่านและดำเนินการจนได้บทสรุปแล้ว
ด้านนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ เลขานุการคณะ กมธ. กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่พบว่ายังมีการขนยางพาราผิดกฎหมาย และมีการจ่ายค่าผ่านแดนในจำนวนที่สูงขึ้น เรื่องนี้เป็นข้อกังวลของคณะกมธ. เพราะจนถึงขณะนี้กรมศุลกากรยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ซึ่ง คณะ กมธ. จะแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของใครและใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
จากนั้น นายมานพ คีรีภูวดล รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัย การสู้รบตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา แถลงเกี่ยวกับรายงานของคณะอนุ กมธ. ว่า ผู้ลี้ภัยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ
กลุ่มแรกคือ กลุ่มดั้งเดิมที่อพยพมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2528) มี 9 แคมป์ 4 จังหวัด กลุ่มเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้ ปัญหาใหญ่คือประเทศไทยไม่ได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยผู้ลี้ภัย จึงไม่สามารถารส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามได้อย่างเป็นระบบ ตลอดเวลา 40 ปีที่อยู่ในแคมป์
แคมป์เหมือนกับสถานที่กักคนกลุ่มนี้ แม้ว่าในทางปฏิบัติได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือตามแผนของสหประชาชาติ ว่าจะต้องส่งไปอยู่ในประเทศที่สามคือสหรัฐอเมริกาในระยะเวลา 7 ปี 70,000 คน แต่ปัญหาที่พบคือ คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้ไปทั้งหมดเพราะคุณสมบัติไม่ผ่าน และส่วนหนึ่งคือไม่มี
ความประสงค์จะเดินทางไปยังประเทศที่สาม คณะอนุ กมธ. จึงเสนอในรายงานว่าให้คนที่อยู่ต่อที่ไม่สามารถจะกลับไปมาตุภูมิได้ต้องมีแนวทางในการพัฒนาระบบสิทธิ์ในการดำรงชีวิตอยู่ในแผ่นดินไทย นอกจากนี้ ประเด็นของเด็กที่เกิดในแคมป์โดยไม่มีสถานะ เนื่องจากว่าไม่มี พ.ร.บ. และไม่มีข้อกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกระบวนการที่ฝ่ายนโยบายที่ต้องอาศัยคณะรัฐมนตรีในการจัดทำศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่ไม่ได้ใช้คำว่าผู้ลี้ภัย ดังนั้น เด็กที่เกิดในแคมป์เสมือนว่าไม่ได้เกิดในแผ่นดินไทย ถือว่าเกิดในสถานที่ ที่เป็นสถานที่ชั่วคราวที่คนเข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่อาศัย กลุ่มนี้เราจะพัฒนาสถานะได้อย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป สำหรับกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่หนีเข้ามาหลังจากมีการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 2021 กลุ่มนี้มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้หนีภัยสู้รบในเขตเมียนมา ซึ่งทางราชการได้ตั้งศูนย์พักพิง 50 จุด จุดละไม่เกิน 100,000 คน แต่คาดว่าหากเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงคนน่าจะมี
ผู้หนีภัยเกิน 300,000 คน 2) กลุ่มผู้หนีภัยทางการเมืองเป็นกลุ่มชนชั้นกลางกลุ่มข้าราชการ นักศึกษา มีจำนวนประมาณ 30,000 คน คนกลุ่มนี้เข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมายมีหนังสือเดินทาง แต่วันนี้ไม่สามารถกลับมาตุภูมิได้ และบางคนก็ไม่ต้องการกลับเพราะกลับไปแล้วไม่ปลอดภัยซึ่งคนกลุ่มนี้ยังไม่มีสถานะผู้อยู่อาศัยในประเทศไทยที่ชัดเจน และ 3) กลุ่มผู้ภัยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศต้นทางไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ข้อมูลจากสหประชาชาติ กลุ่มนี้มีจำนวนเกิน 6,000,000 คนกระจายอยู่ในเขตป่าและประเทศที่สาม โดยจะอยู่ในลักษณะเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย
คณะอนุ กมธ. ได้พิจารณาศึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขไว้ในรายงานเรียบร้อยแล้วโดยจะส่งไปที่นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วน และจะส่งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ดูข้อมูลเพื่อสะท้อนข้อเท็จจริง รวมทั้งส่งให้คณะอนุ กมธ. พิจารณาศึกษาและ
หาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยการสู้รบในประเทศเมียนมา ที่มีนายสุธรรม แสงประทุม เป็นประธาน ศึกษาเพิ่มเติม นอกจากนี้ คณะอนุ กมธ. ยังได้รายงานเรื่องสถานะบุคคล โดยประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหาเชิงข้อกฎหมาย แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบกลไกในการบริหาร ที่รัฐไม่สามารถออกสถานะบุคคล กลุ่มนี้มีจำนวน 900,000 คน แต่ออกสถานะได้เพียง 400,000 คนที่ สาเหตุที่สามารถดำเนินการได้เพราะอำเภอไม่มีงบประมาณ ไม่มีระบบสนับสนุน และไม่มีนโยบายที่ขัดเจน ข้อสรุปของคณะอนุ กมธ. ในประเด็นนี้คือ ต้องสนับสนุนกระบวนงบประมาณ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีขอนำไปศึกษา 60 วัน ทราบว่าในอาทิตย์หน้าจะนำเข้าสู่การประชุมสภาฯ แต่มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติแค่ร่างของคณะรัฐมนตรี แต่อีก 2 ร่าง คือร่างของพรรคก้าวไกล และร่างของภาคประชาชน (PMove) คณะรัฐมนตรีจะไม่ส่ง
กลับเข้ามา จึงต้องการเรียกร้องให้ ครม. ดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับสภาฯ เพราะหากไม่เป็นไปตามข้อตกลงจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้