รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ให้การรับรอง ประธานคณะ กมธ.ตรวจสอบคำร้อง สภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อแนะนำตนเองพร้อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีในโอกาสเดินทางเยือนไทย
วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.15 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ให้การรับรอง นางมาร์ทินา ชทัมม์-ฟิบิคช์ ประธานคณะ กมธ.ตรวจสอบคำร้อง สภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสเดินทางเยือนไทย พร้อมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนี โดยมี นายพงษ์สรณัฐ ทองลี เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ร่วมให้การรับรอง
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวต้อนรับประธานคณะ กมธ.ตรวจสอบคำร้อง ด้วยความยินดี พร้อมกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เยอรมนี ที่มีความแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน และกล่าวชื่นชมการพัฒนาของเยอรมนีในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านประชาธิปไตย เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตนมีความสนใจแนวทางและคิดว่าสามารถเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศต่าง ๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยในไทย ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้มีการพัฒนาทางการเมืองมาตามลำดับ ปัจจุบัน รัฐสภาไทยได้ให้ความสำคัญกับบทบาทสตรี และเยาวชนในด้านการเมือง ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภาสตรีและยุวสมาชิกรัฐสภาเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต โดยมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ดี ควรมีการส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการร่วมกำหนดนโยบายดังกล่าวเพื่อความโปร่งใส ซึ่งรัฐสภาไทยประสงค์ที่จะเรียนรู้จากเยอรมนี โดยเฉพาะในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจสีเขียว และพลังงานสะอาดระหว่างกัน ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ให้กับไทย
ประธานคณะ กมธ.ตรวจสอบคำร้อง ได้กล่าวขอบคุณพร้อมกล่าวย้ำถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเรื่องส่งเสริมบทบาทสตรีในด้านการเมืองผ่านกลไกของรัฐสภา ซึ่งเยอรมนีก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน คณะ กมธ.ตรวจสอบคำร้อง ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิของประชาชนเยอรมนี ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของอำนาจประชาธิปไตย ในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีจะมีการพิจารณาในสามวาระ ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ของโลกในด้านต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องให้เยอรมนีและสหภาพยุโรปเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดเด่นของไทยและเป็นรายได้หลักของประเทศ
เครดิต : ข่าวโดยกลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร