นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส. พรรคก้าวไกล จ.พระนครศรีอยุธยา แถลงข่าว เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่สถานีพระนครศรีอยุธยา
วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส. พรรคก้าวไกล จ.พระนครศรีอยุธยา แถลงข่าว เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่สถานีพระนครศรีอยุธยาว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการรถไฟความเร็วสูงและเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องมีสถานีรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง แต่ที่เน้นย้ำคือต้องการให้จังหวัดพัฒนาการสัญจรของประชาชน โดยใช้ระบบรางเป็นหลัก ที่สำคัญคือเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะเส้นเลือดฝอยในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ของพระนครศรีอยุธยาเพื่อไปส่งพี่น้องได้ใกล้บ้านมากที่สุดจากสถานีขนาดใหญ่อย่างสถานีรถไฟ หากโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวพระนครศรีอยุธยาได้อย่างไรบ้าง นอกจากการเพิ่มจำนวนผู้มาเยือน หากต้องการจะอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนา ฉะนั้น การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) จะกลายเป็นตัวชี้วัดทั้งการอนุรักษ์และพัฒนา แต่ในเมื่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมศิลปากร พิจารณาว่า HIA ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าจ้างทำการประเมินเอง ยังไม่ผ่านในชั้นพิจารณา ก่อนจะส่งต่อให้ Unesco จากกรณีศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าด้วยแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development: TOD) แต่ในรายงานการศึกษา HIA ได้มีการศึกษา และประเมินเพียงตัวสถานีรถไฟ และรางรถไฟที่จะสร้างขึ้นเท่านั้น ยังไม่รวมถึงสัญญาจ้างการประเมิน HIA ที่ไม่ประเมินทางเลือกในการก่อสร้างแบบอื่น รวมถึงแนวทางเลือกเพื่อลดผลกระทบในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะกับมรดกทางวัฒนธรรม แบบนี้จะทำให้ Unesco เห็นถึงความจริงจัง และจริงใจในการอนุรักษ์มรดกของคนทั้งโลกได้อย่างไร ขอให้กระทรวงคมนาคมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนว่าหากการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร แจ้งว่าแล้วเสร็จในปี 2571 และขยายเพิ่มเป็นปี 2572 สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ทันที่กำหนดหรือไม่ เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร และแนวทางเชื่อมต่อโครงการช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ยังไม่คืบหน้า ทั้งนี้ ในส่วนของการก่อสร้างใน จ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากเขตอุทยานประวัติศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกถึง 1.5 กิโลเมตร แต่ไม่มีการพูดถึงมรดกของชาติไทย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ก่อสร้างเมืองอโยธยา หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดเป็นมาตรฐานการอนุรักษ์ที่แตกต่างกันระหว่างมรดกของโลกและ มรดกของชาติไทย ดังนั้น ขอให้ชาว จ.พระนครศรีอยุธยา เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าพระนครศรีอยุธยาต่อไป