ประธาน คณะ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค และคณะ แถลงข่าวผลการศึกษาดูงาน กรณีปุ๋ยราคาแพงและน้ำประปาหมู่บ้านไม่ได้คุณภาพ
วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ประธาน คณะ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค และคณะ แถลงข่าวผลการศึกษาดูงาน กรณีปุ๋ยราคาแพงและน้ำประปาหมู่บ้านไม่ได้คุณภาพ โดยคณะ กมธ. ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากเกษตรกรและประชาชน อ.ดำเนินสะดวก และ อ.บางแพ จ.ราชบุรี จึงเดินทางไปศึกษาดูงานเมื่อวันที่ 9 - 10 มี.ค. 67 สรุปได้ดังนี้
1. การศึกษาดูงานเกี่ยวกับปุ๋ยพบว่า ปุ๋ยสำหรับพืชไม้ผล มีราคาสูงมาก ส่งผลให้เกษตรกร มีการจัดการสูงขึ้น เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ซื้อและผู้บริโภคสินค้าเกษตรที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้มีโครงการลดราคาปุ๋ยเป็น 2 ระยะ โดย ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. – ธ.ค. 66 ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 67 แต่ทั้ง 2 ระยะที่ลดราคานี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้ปรับลดราคาปุ๋ยสำหรับพืชสวน ทั้งนี้ พืชสวน ถือเป็นหนึ่งในผลิตผลทางการเกษตร ที่มีความสำคัญกับการส่งออก และบริโภค จากการร่วมประชุมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน โดยกรมการค้าภายในและสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย พร้อมที่จะหาแนวทางเพิ่มศูนย์กระจายปุ๋ยไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถไปซื้อและรับปุ๋ยได้โดยตรง อันเป็นการลดต้นทุนในการขนส่ง ตลอดจนจะนำข้อมูล เกี่ยวกับชนิดและประเภทของปุ๋ยที่เกษตรกรขอให้ลดราคา คือ ปุ๋ยบาวคอร์น (Compo) จากเยอรมัน และปุ๋ยพีรามิดจากเบลเยียม เสนอต่อกระทรวงพาณิชย์
โดยมีนายณัฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ได้ร่วมประชุมด้วย และเสนอการแก้ปัญหา โดยจะได้นำปัญหาดังกล่าวเสนอต่อ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" เกษตรออกครึ่งหนึ่ง รัฐออกครึ่งหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและให้ผู้บริโภค ได้บริโภคผลิตผลทางการเกษตรที่ถูกลง ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะ กมธ.จะได้ติดตามต่อไป
2. การศึกษาดูงานเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานน้ำประปาหมู่บ้านในพื้นที่ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี จากการที่น้ำประปาหมู่บ้านมีสีขุ่น มีกลิ่น ไม่สามารถนำมาอุปโภคบริโภคได้ ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำพบว่า แหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา คุณภาพน้ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และเมื่อปี 2566 กรมอนามัยได้มีการสุ่มตรวจน้ำประปาพบว่า มีเชื้อแบคทีเรียสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานทำให้การบริโภคน้ำดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอาการท้องร่วงได้ คณะกมธ.จึงได้ขอให้สำนักงานเทศบาลตำบลโพหัก เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเห็นว่าน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การให้ประชาชนได้รับน้ำที่สะอาด ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของภาครัฐ โดยในส่วนการหาแหล่งน้ำดิบมาเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้านของเทศบาลตำบลโพหักนั้น ให้แจ้งความประสงค์ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีซึ่งมีอุปกรณ์และความพร้อมในการดำเนินการ เนื่องจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป่าไม้และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ ยังได้ขอความอนุเคราะห์การประปาส่วนภูมิภาค สาขาราชบุรีและการประปาส่วนภูมิภาค เขต 3 เร่งดำเนินการสำรวจ และออกแบบในการขยายแนววางท่อจ่ายน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ภายในตำบลโพหัก พร้อมทั้ง ให้คำปรึกษาแนะนำ แก่สำนักงานเทศบาลตำบลโพหักในการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานน้ำประปาหมู่บ้านต่อไป โดยการทำงานของคณะ กมธ. จะดูแลเรื่องความปลอดภัย ความถูกต้องของสินค้า รวมทั้งเรื่องการชดเชยการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้บริโภค หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งมายังคณะ กมธ. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป