นายอภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และคณะ เรื่อง ขอให้ สส.ฝ่ายค้านอภิปรายประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเบี้ยเลี้ยงสูงอายุ ในการการอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี
วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายอภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และคณะ เรื่อง ขอให้ สส.ฝ่ายค้านอภิปรายประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเบี้ยเลี้ยงสูงอายุ ในการการอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการแก้ปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน สำหรับประเด็นสำคัญที่อยากจะให้ สส.ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลได้นำไปอภิปรายซักถาม รวมถึงเพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ซึ่งทางกลุ่มปรารถนาว่า ไม่ได้แค่อภิปรายทั่วไปเท่านั้นแต่หมายถึงการผลักดันให้เป็นจริงด้วย มี 3 ประเด็นคือ
1. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บอกว่าขึ้นค่าจ้างชั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 400 บาท ในเดือนพ.ย. 66 แต่ รมว. แรงงาน บอกว่าทำไม่ได้ โดยมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 67 เพียงวันละ 363 บาท แม้ว่านายกรัฐมนตรีให้ทบทวน แต่ รมว.แรงงานกลับยืนยันตามความเห็นของคณะกรรมการค่าจ้างแสดงให้เห็นว่ารมว.แรงงานไม่สามารถบริหารจัดการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลได้ สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้แรงงานและทำให้นายกรัฐมนตรีกลายเป็นคนโกหกหลอกลวงประชาชน ไม่มีความรับผิดชอบต่อสัญญาประชาคม ดังนั้น จึงขอให้พรรคฝ่ายค้านผลักดันให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศวันละ 400 บาท ในวันแรงงาน 1 พ.ค. 67 สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดไม่ได้เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าการบริหารงานของรัฐบาลมีปัญหา พูดไปแล้วแต่ทำไม่ได้ และนายกรัฐมนตรีก็ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้วันละ 363 คำนวณดูแล้วปี พ.ศ. 2570 ก็จะไม่ได้ถึง 600 บาทตามที่หาเสียงไว้ ดังนั้นวันนี้จึงอยากฝากประเด็นนี้ให้มีการอภิปรายอย่างจริงจังต่อไป
2. รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์บอกว่าจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 66 แต่ไม่มีการดำเนินการตามที่พูดออกมา ทั้ง ๆ ที่พรรคชาติไทยพัฒนาหาเสียงว่าจะประกันรายได้ให้คนชราเดือนละ 3,000 บาท อีกทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติหาเสียงจะเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาท และพรรคพลังประชารัฐจะเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่มีการเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งปัจจุบันเดือนละ 600 บาท เป็นอัตราที่ต่ำมากมาหลายปีแล้ว การไม่เพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ทำให้คนชรากว่า 5 ล้านคน เป็นคนชราที่จนดักดาน ไร้ที่พึ่ง กลายเป็นขอทาน มีชีวิตที่อดอยาก แร้นแค้น ดังนั้นในโอกาสที่รัฐบาลจะจัดงานมหาสงกรานต์ ซึ่งจะเป็นวันครอบครัว จึงเป็นการเร่งด่วนที่จะเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาทในวันที่ 13 เม.ย. 67 นี้
3. ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย นายทุนข้ามชาติมีการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยที่กระทรวงแรงงานไม่มีการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ไม่มีการดำเนินคดีนายจ้าง ทำให้ลูกจ้างบริษัทเอเอ็มซี แอลฟ่า และบอดี้แฟชั่นต้องตกงาน ไม่มีรายได้ดำรงชีวิต ได้ร้องเรียนต่อ รมว.แรงงาน และมีการประชุมตกลงกันเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 66 ว่าจะมีการเพิ่มเงินสงเคราะห์ให้ลูกจ้าง 3 บริษัท และจะของบกลางเยียวยาลูกจ้างภายในวันที่ 9 ม.ค. 67 แต่ปรากฏว่า ไม่มีการดำเนินการตามสัญญาข้อตกลง ไม่เพียงแต่เป็นความล้มเหลวของรมว.แรงงาน การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และยังเป็นการขาดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอีกด้วย
นายอภิชาติ กล่าวขอบคุณกลุ่มพี่น้อง 24 มิถุนาประชาธิปไตยที่ปกป้องเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน ประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการเลิกจ้างงาน โดยที่รัฐบาลไม่ได้เอาจริงเอาจังและไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้ง 3 ประเด็นนี้ตนคิดว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายบริหารที่จะต้องดำเนินการ และทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นนโยบายในการหาเสียงของรัฐบาล และรัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง พรรคมี สส. ที่รับผิดชอบประเด็นแรงงาน และสวัสดิการสังคม สำหรับประเด็นที่ได้รับในวันนี้ พรรคจะมอบหมายให้ สส.ที่รับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้อภิปรายตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล เพราะเป็นนโยบายที่พี่น้องประขาชนได้รับกระทบต่อ และไม่เป็นไปตามฉันทามติที่ได้ให้ไว้กับประชาชน
ด้านนายเซีย จำปาทอง กล่าวเพิ่มเติมว่าเห็นปัญหาเหล่านี้มานาน และพรรคก้าวไกลได้นำมากำหนดเป็นนโยบายของพรรค ในฐานะฝ่ายค้านไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านี้ และยินดีจะรับข้อเสนอเหล่านี้ไปอภิปราย สำหรับเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ พรรคตั้งคำถามนี้มาหลายรอบว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเหตุใดไม่เอาจริงเอาจังกับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และที่พูดไว้ว่าจะเป็น 600 บาทต่อวันในปี 2570 คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมากรุงเทพและปริมณฑลได้ปรับขึ้น 10 บาทเท่านั้นสูงสุด 16 บาท เป็นไปได้ยากที่จะขึ้นเป็น 600 บาทในปี 2570 ถ้าจะเป็นไปได้คือต้องขึ้นค่าจ้าง 24 ครั้ง ในระยะเวลา 3 ปี ที่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตรวจสอบรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้นโยบายที่เคยได้หาเสียงไว้เป็นเป็นจริง ประเด็นถัดมาคือเงินบำนาญซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงและได้ยื่นกฎหมายต่อสภา ตอนนี้กฎหมายฉบับนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี ฝากพี่น้องประชาชนถามนายกรัฐมนตรีว่าเมื่อไหร่จะลงนามรับรองเพื่อที่จะนำกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาในสภา และประเด็นการถูกเลิกจ้างงาน แต่รัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ รัฐต้องเอาจริงเอาจัง กระทรวงแรงงานต้องเอาจริงเอาจังกับนายจ้างที่เลิกจ้างลูกจ้า ลอยแพ ไม่ดูแลไม่รับผิดชอบ ในฐานะที่ตนเป็นรองประธานคณะ กมธ. แรงงานได้เห็นปัญหาเหล่านี้ว่ามีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ มีร้องเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้บานปลายขยายวงกว้าง รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับนายจ้างอย่างจริงจัง และข้อเรียกร้องที่นำมามอบให้ในวันนี้ พรรคจะนำไปตั้งคำถามและตรวจสอบรัฐบาล และจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่