คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นวันที่สอง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2567 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ และศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร และนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 148th IPU Assembly and related meetings) ระหว่าง วันที่ 23 - 27 มี.ค. 67 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมวันที่สองได้ ดังนี้
1. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 213 (The 213th Session of the Governing Council) ในเวลา 09.00 นาฬิกา โดยมี Dr. Tulia Ackson ประธานสหภาพรัฐสภา และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุมและเลขานุการการประชุมตามลำดับ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียบวาระการประชุม ได้แก่ รับทราบรายงานการดำเนินงานของประธานสหภาพรัฐสภาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สรุปรายงานการเงินและการคลังของ IPU ในปีที่ผ่านมา และรับทราบประเด็นหลักที่สหภาพรัฐสภาจะขับเคลื่อนในปี 2567 ได้แก่ ประเด็นสันติภาพและความมั่นคง (Peace and Security) อีกทั้งยังได้รับทราบว่าไม่มีวาระเพื่อพิจารณารับประเทศหรือองค์กรใด ที่สมัครเข้าเป็นประเทศสมาชิกหรือองค์กรสมาชิกสมทบเพิ่มเติมเข้าสู่ที่ประชุมในครั้งนี้ ตลอดจนรับฟังการนำเสนอรายงานการดำเนินงานของสหภาพรัฐสภาประจำปี 2566 โดยสำนักงานเลขาธิการ IPU (Impact Report 2023) และสถานะความคืบหน้าของการจัดตั้งสำนักงานระดับภูมิภาค 2 แห่งของสหภาพรัฐสภา
ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 นาฬิกา ที่ประชุมได้เริ่มเข้าสู่การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Assembly) เป็นวันแรก โดยมี Dr. Tulia Ackson ปฏิบัติหน้าที่ประธานในการประชุม โดยที่ประชุมได้รับฟังการกล่าวถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะผู้แทนระดับประธานรัฐสภา/ประธานสภา (High-Level Segment) ซึ่งได้รับการจัดสรรเวลาสำหรับกล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 6 นาที ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ คือ "Parliamentary Diplomacy : Building Bridges for Peace and Understanding" ภายหลังจากรับฟังการนำเสนอของผู้อภิปรายนำ (Panelists) ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสหประชาชาติ และภาควิชาการ และภาคประชาสังคมจนครบถ้วนแล้ว
ในการดังกล่าว ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามคณะผู้แทนรัฐสภาไทยต่อที่ประชุมสมัชชา มีสาระสำคัญโดยสังเขปว่า รัฐสภาไทยมีความเชื่อมั่นและศรัทธาอันแรงกล้าในระบบพหุพาคีนิยม โดยเฉพาะการทูตรัฐสภาที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาในโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยตลอดระยะเวลา 77 ปีของสมาชิกภาพของไทยทั้งในสหประชาชาติ และ 74 ปีในสหภาพรัฐสภา ประเทศไทยได้ดำรงบทบาทที่สร้างสรรค์และให้ความร่วมมืออย่างแข็งขัน ตลอดจนยึดมั่นในกฎบัตรและธรรมนูญขององค์การระหว่างประเทศระดับโลกทั้งสองกรอบมาโดยตลอด รัฐสภาไทยได้ใช้การทูตรัฐสภาในการสานสัมพันธ์กับมิตรประเทศทั้งในกรอบทวิภาคี ผ่านการเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนในทุกระดับของรัฐสภาและมีการทำความตกลง MOU ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนของภาคนิติบัญญัติ ด้านพหุภาคี ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศระดับภูมิภาค โดยเฉพาะสมัชชารัฐสภาอาเซียนหรือ AIPA ในการเป็นกลไกเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค พร้อมทั้งรับมือกับความท้าทายต่างๆ ของภูมิภาคร่วมกัน รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมาด้วย ความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่าง IPU กับองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รัฐสภาไทยสนับสนุนบทบาทนำของ IPU ในการเป็นเวทีพหุภาคีหลักในการขับเคลื่อนการทูตรัฐสภา และผลักดันให้รัฐสภาได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการของสหประชาชาติเพื่อทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ ในการแก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลายและซับซ้อนของโลก ตลอดจนเสริมสร้างสันติภาพ ความเป็นปึกแผ่นของประชาคมรัฐสภาระหว่างประเทศ และการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนทุกคน โดยไทยได้ใช้โอกาสดังกล่าวแจ้งให้ที่ประชุมสมัชชาได้รับทราบถึงการลงสมัครตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของไทย (วาระปี 2568 - 2570) พร้อมกันนั้น ยังได้ประกาศให้ที่ประชุมได้ทราบว่ารัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพ (Regional conference on global health security) ร่วมกับ IPU ณ กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้อีกด้วย
จากนั้น ในเวลา 17.00 นาฬิกา ที่ประชุมสมัชชาได้เปลี่ยนเข้าสู่วาระการพิจารณาข้อเสนอหัวข้อเพื่อพิจารณาลงมติบรรจุเป็นระเบียบวาระเร่งด่วน (Emergency Items) โดยประเทศสมาชิกได้เสนอเข้ามาทั้งหมดรวม 6 รายการ ซึ่งต่อมาในภายหลังผู้เสนอได้ถอนการเสนอของตนออกไป จนเหลือเพียง 3 ข้อเสนอ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในฉนวนกาซา จำนวน 2 ข้อเสนอ และอีกหนึ่งข้อเสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้งภายในเวเนซุเอลา โดยคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกในการลงมติเพื่อเลือกหัวข้อระเบียบวาระเร่งด่วน ผลปรากฏว่าไม่มีข้อเสนอของใดได้รับคะแนนเสียงผ่านเกณฑ์สองในสามของคะแนนเห็นชอบกับคะแนนไม่เห็นชอบรวมกัน ตามข้อบังคับของ IPU จึงทำให้ข้อเสนอทั้งสามเป็นอันตกไป และการประชุมสมัชชาในครั้งนี้จะไม่มีการพิจารณาร่างข้อมติวาระเร่งด่วน ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองติดต่อกันนับแต่การประชุมสมัชชาครั้งที่ผ่านมาที่แองโกลา ซึ่งที่ประชุมสมัชชาไม่สามารถออกท่าทีร่วมของ IPU เป็นข้อมติวาระเร่งด่วนต่อประเด็นวิกฤตในกาซาได้
2. นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยและนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และร่วมอภิปรายภาพรวมของร่างข้อมติ ในหัวข้อ “Addressing the Social and Humanitarian Impact of Autonomous Weapon Systems and Artificial Intelligence” โดยได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่าไทยสนับสนุนร่างข้อมติ ซึ่งเน้นย้ำการปฏิบัติโดยเร่งด่วนเพื่อควบคุมและห้ามการพัฒนา การผลิต การโยกย้าย และการใช้อาวุธสังหารอัตโนมัติ โดยยังคงรักษาการควบคุมโดยมนุษย์เมื่อใช้อาวุธเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาอยู่ในสถานะที่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาวุธสังหารอัตโนมัติต่อสาธารณชนได้ จากนั้น ในช่วงบ่ายผู้แทนรัฐสภาไทยทั้งสองได้ร่วมแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างข้อมติเป็นรายวรรค (Drafting in Plenary) ซึ่งที่ประชุมจะได้ให้การรับรองร่างข้อมติฉบับสมบูรณ์ ในวันที่ 26 มีนาคม 2567 ต่อไป
3. ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (The IPU Standing Committee on
Sustainable Development) โดยผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการฯ สามารถผลักดันข้อเสนอของไทย ในการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างข้อมติหัวข้อ "Partnerships for Climate Action : Promoting Access to Affordable Green Energy, and Ensuring Innovation, Responsibility and Equity" ให้ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมได้สำเร็จเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นการส่งเสริมให้รัฐสภาทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างขีดความสามารถ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจน เรียกร้องให้รัฐสภาประเทศสมาชิกจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานสีเขียวได้อย่างยั่งยืน
4. ผู้แทนรัฐสภาไทยที่เป็นยุวสมาชิกรัฐสภา หรือสมาชิกรัฐสภาที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร และ นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา (Forum of Young Parliamentarians) โดยมี Mr. Dan Carden สมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักร ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งมีประธานสหภาพรัฐสภา และเลขาธิการสหภาพรัฐสภา เข้าร่วมเพื่อกล่าวในช่วงเปิดการประชุมด้วย
ในการนี้ นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ได้นำเสนอความหน้าของไทยภายหลังจาก การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่มียุวสมาชิกรัฐสภาเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 42 ตลอดจนขับเคลื่อนวาระด้านยุวสมาชิกรัฐสภาทั้งในรัฐสภาไทยและกรอบสหภาพรัฐสภา หลังจาก ที่ชมรมยุวสมาชิกรัฐสภาของไทยเพิ่งจะมีการเลือกคณะกรรมการบริหารชมรมไปเมื่อไม่นานนี้ ขณะที่นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แลกเปลี่ยนต่อที่ประชุมภายใต้หัวข้อหลักของการอภิปรายทั่วไป (General Debate) สำหรับการประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ 148 ผ่านมุมมอง ของเยาวชน โดยเฉพาะในประเด็นการส่งเสริมบทบาทของการทูตรัฐสภาเพื่อสร้างความหวังให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในปัจจุบัน จากนั้น นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอความเห็นต่อร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนา ที่ยั่งยืนว่าด้วยพลังงานสีเขียวที่เข้าถึงได้ โดยเน้นไปที่การดำเนินการของรัฐสภาเพื่อรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสีเขียว การปฏิบัติตามกลไกความร่วมมือในกรอบ COP ตลอดจนการผสานพลังของเยาวชนในกระบวนการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
อนึ่ง ในเวลา 13.00 นาฬิกา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้เข้าร่วมกิจกรรมข้างเคียง ได้แก่ กิจกรรม Panel Discussion ในหัวข้อ "Addressing Strategic and Existential Threats Through Common Secuity and the Rule of Law" จัดโดย IPU ร่วมกับ องค์กร PNND และ World Future Council โดยที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนภายใต้แนวคิด Common Security และหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ (ผ่านศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) ถึงบทบาทของภาครัฐสภา ในกิจกรรมสำคัญของสหประชาชาติในปีนี้คือ การประชุม Summit of the Future ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน นี้ ภายใต้หัวข้อ “Multilateral Solutions for a Better Tomorrow” เพื่อมุ่งฟื้นฟูและปฏิรูประบบพหุภาคีนิยมให้มีความพร้อมรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ของโลกในอนาคต รวมถึง การมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติในกระบวนการเจรจา Pact of the Future ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าวด้วย
5. นอกจากนี้ ในการประชุมวันที่สอง คณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้พบปะหารือทวิภาคีกับคณะผู้แทนรัฐสภาสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นำโดย Mr. Juan Muguel F. Zubiri ประธานวุฒิสภาฟิลิปปินส์ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในหลากหลายมิติโดยเฉพาะความสัมพันธ์ในภาคนิติบัญญัติที่มีความใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยคณะผู้แทนรัฐสภาไทยนำโดยประธานวุฒิสภาได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม APPF ครั้งที่ 31 ประจำปี 2566 ณ กรุงมะนิลาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 และเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา วุฒิสภาได้รับเกียรติต้อนรับคณะจากสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ นำโดย Ms. Yedda Marie Romualdez สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และภริยาของนาย Martin Romualdez ประธานสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ วุฒิสภาไทยจะได้รับเกียรติต้อนรับประธานวุฒิสภาฟิลิปปินส์ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นการตอบแทนในฐานะแขกของวุฒิสภา ในระหว่างวันที่ 3 - 6 เมษายน 2567 โดยฝ่ายฟิลิปปินส์สนใจจะศึกษาความก้าวหน้าด้านการท่องเที่ยว กิจการด้านข้าว และความมั่นคงด้านอาหารในระหว่างการเยือนดังกล่าว ทั้งนี้ ฝ่ายฟิลิปปินส์ได้ขอให้ไทยซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปีหน้า พิจารณาผลักดันให้อาร์นิส (Arnis) ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัวประจำชาติฟิลิปปินส์ ได้บรรจุเป็นกีฬาประเภทหนึ่งในซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยด้วย
ด้านฝ่ายไทยยังได้ใช้โอกาสนี้เชิญไทยให้รัฐสภาฟิลิปปินส์ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพ (Regional Conference on Global Health Security) ที่รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดร่วมกับ IPU ณ กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ด้วย
เครดิต : ข่าวและภาพโดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร