2.3 นายอัคร ทองใจสด พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ.สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (Standing Committee on Democracy and Human Rights) ซึ่งจัดการอภิปรายเพื่อเตรียมการยกร่างข้อมติในหัวข้อ The Impact of artificial intelligence on democracy, human rights and rule of law ซึ่งจะพิจารณารับรองในการประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ 149 โดยที่ประชุมได้อภิปรายถึงนัยของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ การใช้เทคโนโลยี deepfake เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือการใช้ AI สร้างกระแสปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังขึ้นในสังคม ทั้งนี้ นายอัคร ทองใจสด ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อดังกล่าวโดยเน้นการดำเนินการของภาครัฐสภาในการออกกฎหมายที่วางอยู่บนสมดุลระหว่างการส่งเสริมและการกำกับควบคุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ AI โดยได้ยกตัวอย่างความก้าวหน้าของคณะ กมธ.วิสามัญ ที่สภาผู้แทนราษฎรไทยได้ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาประโยชน์และความเสี่ยงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ตลอดจนการเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม AI และสนับสนุนธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จาก AI ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไทยในอนาคตต่อไป
2.4 ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะทำงานว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหภาพรัฐสภา (IPU Working Group on Science and Technology: WGST) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงาน WGST โดยมี Mr. Denis Naughten สมาชิกรัฐสภาไอร์แลนด์ ในฐานะประธานคณะทำงาน WGST ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการมีส่วนร่วมในการประชุมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 6 รายการ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนร่างเอกสารของชุดเครื่องมือ (Toolkit) ที่จัดทำขึ้นสำหรับสมาชิกรัฐสภา เพื่อเป็นตัวช่วยในการสนับสนุนรัฐสภาในการเสริมสร้างความร่วมมือกับชุมชนวิทยาศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกหลายประเทศรวมทั้งไทยในการตอบแบบสำรวจว่าด้วยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐสภาและชุมชนวิทยาศาสตร์ ในการนี้ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อการทำงานของประธาน WGST และสมาชิกคณะทำงานฯ ในการผลักดันร่างเอกสารฉบับนี้ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีความครอบคลุม สื่อสารได้อย่างตรงเป้าชัดเจน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมเอกสารฉบับนี้ให้เป็นที่รู้จักของทั้งบุคคลในวงงานรัฐสภา ชุมชนวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป รวมถึงการแปลเอกสารเป็นภาษาต่าง ๆ พร้อมทั้ง เสนอให้จัดทำเครื่องมือติดตามความก้าวหน้าในการนำเอกสารฉบับนี้ไปใช้ในอนาคตต่อไป
2.5 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยวิกฤตของระบบพหุภาคี (High-level meeting on the Crisis of multilateralism: root causes and possible solutions) ซึ่งเป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นโดยคณะ กมธ.สหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมระดับประธานรัฐสภาหรือรองประธาน โดยที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของรัฐสภาในการผลักดันวาระเพื่อปฏิรูประบบสหประชาชาติ โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ระบบพหุภาคีนิยมของประชาคมระหว่างประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในมิติด้านความรับผิดชอบ และความโปร่งใส ที่รัฐสภาสามารถเสริมเพื่อฟื้นฟูศรัทธาในระบบพหุภาคีนิยมภายใต้สถาบันสหประชาชาติให้สามารถตอบสนองกับความท้าทายใหม่ของโลกปัจจุบัน ซึ่งในการดังกล่าวรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุม ความว่า ไทยสนับสนุนให้มีการปฏิรูประบบพหุภาคีนิยมของสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นให้ประเทศขนาดเล็กหรือขนาดกลาง มีสิทธิมีเสียงในเวทีพหุภาคีมากขึ้น และเห็นควรให้ใช้เวทีพหุภาคีเป็นกลไกแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค เช่น สถานการณ์ในเมียนมา โดยรัฐสภาสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการสร้างจุดเกาะเกี่ยวระหว่างกิจการต่างประเทศ ในกรอบพหุภาคีให้ยึดโยงกับประชาชน เพื่อเพิ่มมิติประชาธิปไตยในกระบวนการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศร่วมกัน
2.7 นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการอภิปราย Panel Discussion on Interfaith Dialogue: Building bridges through interfaith dialogue for more peaceful and inclusive societies โดยได้นำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบว่า รัฐสภาไทยมีสมาชิกรัฐสภาจากหลากหลายกลุ่มชุมชนทางศาสนาที่ทำงานร่วมกันได้บนหลักของการเคารพซึ่งกันและกัน และหลักขันติธรรมซึ่งสะท้อนถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้โดยสันติและกลมเกลียวมาเป็นเวลาช้านาน โดยได้ยกตัวอย่างประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองคนของไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธ ตามลำดับ รวมถึงนำเสนอบทบาทของรัฐสภาเพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนิกชนต่างศาสนาในประเทศไทย
2.8 ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จัดโดย IPU ร่วมกับ UNESCO และ IGF โดยที่ประชุมได้รับฟังการนำเสนอจากผู้เชี่ยวชาญในด้าน AI และได้ร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางที่สมาชิกรัฐสภาสามารถดำเนินการ ทั้งในมิติของการส่งเสริม และในมิติของการกำกับควบคุมการพัฒนา AI และเป็นสื่อกลางในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงประโยชน์และความท้าทายของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ตลอดจนวิธีการจัดการปัญหาด้านความรุนแรงในมิติทางเพศที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี AI