2.1 ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (The IPU Standing Committee on Sustainable Development) เป็นนัดสุดท้ายเพื่อร่วมลงมติรับรองร่างข้อมติ หัวข้อ "Partnerships for climate action: Promoting access to affordable green energy, and ensuring innovation, responsibility and equity " ซึ่งที่ประชุมเกี่ยวได้ร่วมกันยกร่างมาเป็นเวลาสองวัน โดยที่ประชุมได้เห็นพ้องในการเน้นย้ำถึงความคาดหวังที่มีต่อบทบาทของภาครัฐสภาในการขับเคลื่อนกลไกและกฎหมายสำคัญเพื่อนำทางไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากากาศที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของประชาคมโลกในปัจจุบัน ในการดังกล่าว ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ฯ ได้กล่าวขอบคุณสหภาพรัฐสภา ผู้รายงานร่วม (Reporteurs) และฝ่ายเลขานุการ ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในการรวบรวมความเห็นของรัฐสภาประเทศสมาชิกเข้าไปในร่างข้อมติให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอร่างข้อมติฉบับดังกล่าวให้ที่ประชุมสมัชชาพิจารณารับรองในช่วงท้ายของการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 148 ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 พร้อมกันนั้น คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เห็นชอบ หัวข้อ "Parliamentary Strategy to mitigate the long-lasting impact of conflicts, including armed conflicts, on sustainable development" เป็นหัวข้อร่างข้อมติฉบับถัดไปซึ่งจะได้มีการอภิปรายเพื่อเตรียมการยกร่างข้อมติในการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 149 ต่อไป
2.2 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (IPU Standing Committee on Democracy and Human Rights) ในวันที่สอง ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในหัวข้อ “Sustainable actions to improve the life conditions of people with disabilities, including their chances for education and work opportunities” ในการนี้ นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในการปกป้องสิทธิและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ตลอดจนบทบาทของรัฐสภาไทยในการออกกฎหมายและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สาธารณชนในด้านสิทธิและความเท่าเทียมของผู้พิการและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม โดยได้นำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบว่า นอกจาก พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้พิการแล้ว ไทยยังได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการแห่งชาติ ฉบับที่ 6 และแผนจัดการการศึกษาสำหรับผู้พิการ ฉบับที่ 4 ตลอดจน ดำเนินโครงการมากมายผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นกรอบและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียม การพึ่งพาตนเองได้ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ครอบคลุมทุกมิติตามพันกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทยโดยมุ่งเน้นไปที่การประกันโอกาสในการศึกษาและการเลี้ยงชีพของผู้พิการอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
2.3 นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (Standing Committee on International Peace and Sceurity) เป็นนัดสุดท้ายเพื่อร่วมลงมติรับรองร่างข้อมติในหัวข้อ Addressing the social and humanitarian impact of autonomous weapon systems and artificial intelligence อย่างไรก็ดี ร่างข้อมติฉบับดังกล่าวนี้มีประเด็นเกี่ยวกับความเห็นที่แตกต่างของที่ประชุมในด้านเนื้อหาตลอดการพิจารณาร่างข้อมติในห้วงสองวันที่ผ่านมา จึงทำให้มีผู้เสนอขอให้ที่ประชุมพิจารณาร่างข้อมติเป็นรายวรรคเพิ่มเติมอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับ ที่ประชุมจึงจำเป็นต้องพิจารณาร่างข้อมติตามการแปรญัตติดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อผ่านการพิจารณาร่างข้อมติได้ประมาณ 6 วรรคนำ ผู้เสนอได้ขอยกเลิกการพิจารณาร่างข้อมติเป็นรายวรรคเพิ่มเติม ประธานที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุมลงมติรับรองร่างข้อมติ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีมติรับรอง โดยมีบางประเทศที่แสดงความเห็นคัดค้านร่างข้อมติทั้งฉบับหรือตั้งข้อสงวนเป็นรายวรรค ซึ่งฝ่ายเลขานุการจะได้จัดทำหมายเหตุท้ายร่างข้อมติต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณารับรองหัวข้อสำหรับการอภิปรายในการประชุมครั้งถัดไป คือ “The role of parliaments in advancing a two-State solution in Palestine” เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นจากการอภิปราย ไปเตรียมการจัดทำร่างข้อมติในหัวข้อดังกล่าว เพื่อพิจารณารับรองในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 ในเดือนมีนาคม 2568 ต่อไป
2.4 นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ (Standing Committee on United Nations Affairs) โดยในช่วงแรกที่ประชุมได้รับฟังการนำเสนอเรื่อง New UN Youth Office จากผู้แทนของสหประชาชาติ และบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในกิจการของโลก ในการดังกล่าว นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ผ่านการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ตลอดจนผลกระทบของข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสยุยงปลุกปั่น และให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึง เทคโนโลยี deep fake ซึ่งยุวสมาชิกรัฐสภาพึงเป็นปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เยาวชนในการเป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีภูมิคุ้มกันและมีความรับผิดชอบ
ต่อมาในช่วงที่สอง ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในหัวข้อ “The United Nations’ humanitarian work: How sustainable is it?” ในการนี้ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมว่าประเทศไทยสนับสนุนความพยายามอย่างยิ่งยวดในการบรรเทาสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซาต่อไป และให้ฝ่ายคู่ขัดแย้งหยุดยิงเพื่อเปิดทางให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกนี้ ยังได้นำเสนอการดำเนินการของประเทศไทยในความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วยการเปิด "ระเบียงมนุษยธรรม" (humanitarian corridor) ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านมนุษยธรรมที่เร่งด่วนในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ให้สอดคล้องกับพันธะกรณีด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของไทย
2.5 ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ "Climate change and conflict: How can parliaments ensure health during times of crises?" โดยที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลากมิติ ทั้งปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม และการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งส่งผลต่อภาวะความยากจน ปัญหาสุขภาพ รวมถึงปริมาณผู้ป่วยที่อาจเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข ขณะที่หลายประเทศในปัจจุบันประสบปัญหาระบบสาธารณสุขไม่มีมาตรฐานเพียงพอ และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่สภาพปัญหาต่อเนื่องด้านความมั่นคงไปจนถึงปัญหาการอพยพ ในการดังกล่าว ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ฯ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตั้งคำถามต่อที่ประชุมถึงความพยายามของภาครัฐสภาในการออกกฎหมายและจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ปัจจัยและเงื่อนไขของประเทศตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม รัฐควรคำนึงถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองต่อการรับมือกับปัญหาสุขภาพของประชาชนด้วยหรือไม่ อาทิ การออกแบบระบบสุขภาพบนความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรองรับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติมากขึ้นในอนาคต
4. อนึ่ง คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ตอบรับร่วมอุปถัมภ์ (co-sponsor) ข้อเสนอของออสเตรเลีย ที่จะนำเสนอหัวข้อ "Towards a fair global financial systen: the role of parliaments in preventing corporate tax avoidance and achieving sustainable development" เพื่อเป็นหัวข้อของร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะยกร่างและรับรองในการประชุมสมัชชาสองครั้งถัดไป โดยหัวข้อดังกล่าวมีไนจีเรียกับนิวซีแลนด์ลงชื่อร่วมอุปถัมภ์แล้ว ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะเสนอหัวข้อดังกล่าวเข้าสู่ การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (Bureau) ของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป