รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับยื่นร่างพระราชบัญญัติการเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. …. จาก ประธานคณะ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ และคณะ
วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 11.40 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับยื่นร่างพระราชบัญญัติการเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. …. จาก นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ และคณะ โดยที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีหลักการและเหตุผลเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ และให้การเรียกดังกล่าวมีผลบังคับและสอดคล้อง ตามมาตรา 129 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2563 ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพิจารณา และการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ทำให้มีประสิทธิภาพและได้รับข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้มายื่นหนังสือเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. …. และเมื่อที่ผ่านมา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทย ได้เคยยื่นเรื่องดังกล่าวมาแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า ในนามคณะกมธ.ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. …. ซึ่งร่างดังกล่าวได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว แต่เนื่องจากได้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และได้มีข้อวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญส่งผลให้การบังคับใช้ในกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาทำให้การทำงานของคณะ กมธ. มีปัญหา ในการจะรวบรวมข้อมูลที่จะศึกษาและเสนอแนะไปยังรัฐบาลได้ และประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคกราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการหารือกับประธานคณะ กมธ. จำนวน 35 คณะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข และเป็นไปตามมาตรา 129 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการใช้คำสั่งเรียกหากมีการเรียกในลักษณะกลั่นแกล้งผู้ที่ใช้คำสั่งเรียกดังกล่าวจะมีความผิดเช่นกัน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคณะ กมธ. ซึ่งหวังว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดีต่อไป