รองประธานคณะ กมธ.การทหาร คนที่สอง เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “พลทหารปลอดภัย”
วันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา ร.ท.ธนเดช เพ็งสุข รองประธานคณะ กมธ.การทหาร คนที่สอง เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “พลทหารปลอดภัย” กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดสัมมนาโดย นายณัฐพัฒน์ พัดทอง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานคณะ กมธ.การทหาร โดยมี น.อ.วุฒิกร สุวารี เสนาธิการศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับกองพัน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกกำลังพล จากกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองทัพไทย รวม 200 คน เข้าร่วมสัมมนา
จากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง “บทบาทของคณะ กมธ.การทหาร สภาผู้แทนราษฎร กับการพัฒนากองทัพ” โดย ร.ท.ธนเดช เพ็งสุข รองประธานคณะ กมธ.การทหาร คนที่สอง นายเอกราช อุดมอำนวย กมธ. และเลขานุการคณะ กมธ. และนายชยพล สท้อนดี โฆษกคณะ กมธ.
การสัมมนาดังกล่าวจัดโดยคณะ กมธ.การทหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของคณะ กมธ.การทหาร กับภารกิจการป้องกัน การรักษาความมั่นคง และการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนจากทหารเกณฑ์ที่ถูกทำร้าย หรือพบเห็นการถูกทำร้าย เพื่อหามาตรการป้องกัน และระงับยับยั้งไม่ให้เกิดการทำร้ายทหารเกณฑ์ในค่ายทหาร และเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความอุ่นใจให้ผู้ปกครอง และบุคคลที่จะเข้ารับการเกณฑ์ทหารว่าจะมีความปลอดภัยในระหว่างการเป็นทหารเกณฑ์ โดยการสัมมนาเป็นการอภิปรายให้ความรู้ในหัวข้อ “การฝึกพลทหารอย่างปลอดภัยโดยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565“ ”การให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาและการดูแลทหารกองประจำการใหม่และการทดสอบจิตวิทยา“ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทีมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ และการบรรยายพิเศษเรื่องกองทัพไทยกับภารกิจการเกณฑ์ทหาร โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ซักถามและแสดงความเห็นในภาพรวมของการสัมมนาทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุปอันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน โดยคณะ กมธ.จะได้นำข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการสัมมนามาประกอบการพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะ กมธ. ต่อไป
โดยมีเป้าหมายที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญคือ “การตายในค่ายทหารต้องเป็นศูนย์” และนอกจากนี้ หากพบการกระทำที่เข้าลักษณะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 คณะ กมธ.การทหาร จะประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินการทันที