รองประธานคณะกมธ. การต่างประเทศ คนที่หนึ่ง แถลงข่าว กรณีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังพ้นจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี
วันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ รองประธานคณะกมธ. การต่างประเทศ คนที่หนึ่ง แถลงข่าว กรณีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังพ้นจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้นายกฯ รีบหาและแต่งตั้ง รมว.ต่างประเทศคนใหม่ โดยเร็ว ตนในฐานะรองประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ คนที่หนึ่ง ขอแสดงความเสียใจนายปานปรีย์ ลาออกจากตำแหน่ง เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ เพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้แทนทางการค้า ส่วนผลงานในฐานะ รมว.ต่างประเทศในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมา มีเป็นจำนวนมากตามที่ท่านได้เขียนไว้หนังสือลาออก โดยส่วนตัวตนถือว่า นายปานปรีย์ เป็นรัฐมนตรีน้ำดีท่านหนึ่ง แน่นอนว่าการลาออกจากตำแหน่งของ นายปานปรีย์ สร้างความตกใจและสับสนแก่ต่างประเทศหลายประเทศว่าเกิดอะไรขึ้นกับเสถียรภาพของรัฐบาลไทย ซึ่งเมื่อวานนี้ตนได้รับข้อความจากเจ้าหน้าที่สถานทูตหลายแห่งสอบถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น การที่นายกรัฐมนตรีให้นายปานปรีย์พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศตำแหน่งเดียว สะท้อนให้เห็นว่า นายกฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านต่างประเทศตามที่เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่เข้าใจถึงการที่จะต้องได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศเพื่อให้การเจรจาระหว่างประเทศมีน้ำหนัก และนายกฯ ไม่ให้ค่ากับบุคคลที่รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเท่าที่ควร บริบทการเมืองไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา รมว.ต่างประเทศจะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย สะท้อนให้ต่างประเทศเห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศ อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้นายกฯ รีบหาและแต่งตั้งรมว.ต่างประเทศคนใหม่โดยเร็ว เพราะในขณะนี้ประเทศไทยไม่มี รมว. และรมช.ต่างประเทศ ในขณะที่ประเด็นด้านการต่างประเทศที่สำคัญหลายเรื่องต้องมีคนที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งเข้ามารับผิดชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งยกตัวอย่างเรื่องคือ เรื่องดุลอำนาจที่เกิดจากภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรื่องสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาที่มีคลื่นผู้อพยพจากเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย และได้มีการจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมตามแนวชายแดนไทยเมียนมาที่นายปานปรีย์ ได้ผลักดันให้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเรื่องเมียนมานี้รัฐบาลจะต้องเร่งหาความร่วมมือจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและจากประเทศมหาอำนาจบางประเทศโดยด่วน
ส่วนนายกฯ จะเลือกใครนั้น ตนไม่ขอเข้าไปก้าวล่วงเพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ขอแสดงความไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านหากนายกฯ จะมาควบตำแหน่งรมว.ต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง หรือจะแต่งตั้งให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งในขณะนี้ให้มาควบตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ เพราะภาระหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ นั้นหนักอึ้งอยู่แล้ว เพราะมีหน้าที่ที่จะต้องควบคุมดูแลและติดตามงานของทุกกระทรวง และงานของรมว.ต่างประเทศต้องมีการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง และที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้รองนายกฯในตอนนี้มาควบตำแหน่ง เพราะบุคคลที่จะมาเป็นรมว.ต่างประเทศ เป็นเหมือนหน้าตาของประเทศไทยในสังคมโลก จึงต้องเป็นคนที่ต้องเข้าใจในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียและของโลก และต้องมีวิสัยทัศน์ในการวางตำแหน่งของประเทศไทยบนเวทีโลก และที่สำคัญคือต้องพูดไม่เยอะและต้องระวังการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพราะเรื่องเกี่ยวกับการต่างประเทศนั้นมีทั้งประเด็นด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีหลายประเด็นเป็นเรื่องที่อ่อนไหว