ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการจ้างงาน การเพิ่มทักษะแรงงานและการจัดตั้งสภาแรงานจังหวัดสำหรับลูกจ้างและนายจ้างภายในจังหวัด"
วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 – 2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการจ้างงาน การเพิ่มทักษะแรงงานและการจัดตั้งสภาแรงานจังหวัดสำหรับลูกจ้างและนายจ้างภายในจังหวัด" โดยมี นายเซีย จำปาทอง รองประธานคณะ กมธ.การแรงงาน คนที่สาม กล่าวรายงาน ในการนี้ นายสหัสวัต คุ้มคงโฆษกคณะ กมธ. คณะ กมธ. ผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน นักวิชาการด้านแรงงาน ผู้ประกอบการ แรงงานในสถานประกอบการ และนักศึกษาในสถาบันการอาชีวศึกษา เข้าร่วมการสัมมนา
จากนั้น เป็นการอภิปรายในหัวข้อ เรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการจ้างงาน การเพิ่มทักษะแรงงาน และการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด สำหรับลูกจ้างและนายจ้างภายในจังหวัด" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย
1. นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน นักวิจัยแห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายในประเด็นปัญหาการจ้างงาน
2. นายภูชิสส์ ศรีเจริญ ประธานกรรมการ และผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อสังคม (HCC) และ บริษัท เอชอาร์โปรลิ้งค์ จำกัด อภิปรายในประเด็นการเพิ่มทักษะแรงงาน
3. นายปนิธิ ศิริเขต อภิปรายในประเด็นการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัดสำหรับลูกจ้างและนายจ้างภายในจังหวัด
ดำเนินรายการโดย นายไทย์ธน รุ่งเรือง อนุ กมธ.ศึกษาการแก้ไขปัญหาการจ้างงานและเพิ่มทักษะแรงงาน และการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัดสำหรับลูกจ้างและนายจ้างภายในจังหวัด และ น.ส.พัทธนัญพร พิพิธวรโภคิน ที่ปรึกษาประจำคณะ กมธ.การแรงงาน
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ คณะ กมธ.การแรงงาน จัดขึ้นเพื่อรวบรวมและศึกษาปัญหาด้านแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานอย่างเป็นธรรม รวมทั้งศึกษาแนวทางการเพิ่มทักษะแรงงานให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและสถานการณ์ด้านแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานใหม่ได้ ตลอดจนศึกษาแนวทางการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัดสำหรับลูกจ้างและนายจ้างภายในจังหวัด เพื่อให้แรงงานสามารถรวมตัวกันโดยอิสระในการจัดตั้งสภาแรงงาน การเจรจาต่อรองปัญหาด้านแรงงาน รวมถึงการศึกษาแนวทางการให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 (international Labour Organization : ILO) เพื่อเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศไทยให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว