รองประธานคณะ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ กมธ. และที่ปรึกษารับยื่นหนังสือร้องเรียนจาก นายนิพนธ์ นูมหันต์ ประธานกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรป้อมปราการ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนผู้เดือดร้อน เรื่อง ถูกสั่งปิดสระว่ายน้ำภายในหมู่บ้านจัดสรรป้อมปราการ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ
วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ กมธ. และที่ปรึกษารับยื่นหนังสือร้องเรียนจาก นายนิพนธ์ นูมหันต์ ประธานกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรป้อมปราการ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนผู้เดือดร้อน เรื่อง ถูกสั่งปิดสระว่ายน้ำภายในหมู่บ้านจัดสรรป้อมปราการ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ
ด้วยหมู่บ้านจัดสรรป้อมปราการ มีบริษัท พัชรภูมิ จำกัด ผู้จัดสรรที่ดินและเจ้าของโครงการ ได้ทำการสร้างและขายบ้านให้กับสมาชิกเมื่อปี 2535 โดยมีสาธารณูปโภคต่าง เช่น สระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น และสวนสาธารณะ เป็นต้น หลังจากจบโครงการปี 2540 ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีกฎหมายการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเข้ามาควบคุมดูแล จึงได้จัดตั้งเป็นชุมชนหมู่บ้านป้อมปราการ โดยเจ้าของโครงการได้ส่งมอบสาธารณูปโภคให้คณะกรรมการชุมชนดูแล ยกเว้นสระว่ายน้ำ ซึ่งเจ้าของโครงการยังเป็นผู้ดูแลดำเนินกิจการเอง ต่อมาเมื่อปี 2566 ทางสมาชิกลูกบ้านได้ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลฯ ขึ้นมา และทางผู้จัดสรรที่ดินได้จดโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ ที่ดินสาธารณะ พร้อมสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้กับนิติบุคคลฯ เมื่อได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ส่วนกลาง ที่ดิน พร้อมสาธารณูปโภคต่าง ๆ มาแล้ว คณะกรรมการนิติบุคคลฯ เห็นว่าสระว่ายน้ำซึ่งตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินที่ได้รับโอนมาพร้อมกับโครงการมีอายุร่วม 30 ปี ได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงสระว่ายน้ำนี้ให้ได้มาตรฐาน เพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ จึงจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สมาชิกลูกบ้านที่สนใจยื่นชองประมูลราคาการปรับปรุงสระว่ายน้ำ แต่ไม่มีผู้ใดยื่นซอง ประธานกรรมการนิติบุคคลฯ จึงเสนอจะเป็นผู้ลงทุนปรับปรุงสระว่ายน้ำด้วยเงินทุนของตนเองโดยทำสัญญาเช่ากับนิติบุคคลฯ 9 ปี และที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่เสนอ ประธานกรรมการนิติบุคคลฯ จึงได้ลงมือปรับปรุงสระว่ายน้ำให้ดีได้มาตรฐานด้วยทุนของตนเองเป็นจำนวนเงินมากกว่า 3 ล้านบาท ด้วยความที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย เลยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และเห็นว่าในอดีตก่อนโอนกรรมสิทธิ์สาธารณะประโยชน์มาให้เป็นชื่อนิติบุคคลฯ สระว่ายน้ำหลังนี้ได้เปิดทำกิจการแบบสระว่ายน้ำมาแล้วถึง 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 เจ้าของโครงการ (ผู้จัดสรรที่ดิน) ทำเอง รุ่นที่ 2 เจ้าของโครงการให้ผู้อื่นเช่าทำ และหยุดทำกิจการช่วงโควิดเป็นต้นมา และทั้ง 2 รุ่น ทางเทศบาลแหลมฟ้าผ่าได้จัดเก็บภาษีโรงเรือน ในประเภทของสระว่ายน้ำ และยังได้เคยออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้กับผู้ประกอบการรุ่นก่นมาแล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาใดกับการเปิดให้บริการสระว่ายน้ำในครั้งนี้ ช่วงที่กำลังปรับปรุง ประธานกรรมการนิติบุคคลฯ ได้ติดต่อกับทางสำนักงานเทศบาลแหลมฟ้าผ่า จะขอยื่นเอกสารขอใบอนุญาตประกอบการสระว่ายน้ำ แต่ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ปรับปรุงให้เสร็จก่อน แล้วจะมาตรวจสถานที่ ให้ยื่นเอกสารภายหลัง แต่เมื่อปรับปรุงสระว่ายน้ำเสร็จสมบูรณ์ เปิดให้บริการได้เพียง 5 วัน คือวันที่ 13 - 17 เม.ย. 67 และในวันที่ 18 เม.ย. 67 ได้มีหนังสือคำสั่งจากเจ้าพนักงานเทศบาลแหลมฟ้าผ่า ให้ปิดสระว่ายน้ำและให้หยุดให้บริการในทันที เพราะไม่มีใบขออนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งที่จริงเมื่อปรับปรุงสระว่ายน้ำเสร็จสมบูรณ์ ประธานกรรมการนิติบุคคลฯ ได้ไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบการสระว่ายน้ำ แต่ก็ยังไม่สามารถยื่นขอได้ มาทราบภายหลังว่าสถานที่ตั้งของสระว่ายน้ำนี้ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 100928 หลังโฉนดได้สลักหลังไว้ว่า ที่ดินแปลงนี้อยู่ภายใต้การจัดสรรและเป็นพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นบริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่น ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะเป็นที่ตั้งสระว่ายน้ำที่มีก่อสร้างขึ้นพร้อมกับโครงการมาแล้วร่วม 30 ปี จึงทำให้ทางนิติบุคคลฯ เกิดข้อสงสัยทำไมผู้ประกอบการ 2 รุ่นก่อน ทางสำนักงานเทศบาลฯ สามารถให้เปิดประกอบการสระว่ายน้ำได้อย่างไรและจัดเก็บภาษีโรงเรือนในประเภทสระว่ายน้ำอีกด้วย เมื่อทางเจ้าพนักงานเทศบาลฯ ได้ออกคำสั่งปิดการให้บริการสระว่ายน้ำ ทางคณะกรรมการนิติบุคคลฯ ก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้เร่งจัดประชุมใหญ่วิสามัญ สมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อขอมติแก้ไขสลักหลังโฉนดที่ดินเลขที่ 100928 จากพื้นที่ที่กันไว้เป็นบริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่ที่กันไว้ให้บริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่น และสระว่ายน้ำการมีคำสั่งปิดบริการสระว่ายน้ำจากเจ้าหน้าที่เทศบาลแหลมฟ้าผ่าครั้งนี้ ทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อเด็ก ๆ ในชุมชนที่ต้องการมาเล่นน้ำ หัดว่ายน้ำ ผู้ป่วยกล้ามเนื้อต้องการลงสระน้ำเพื่อทำกายภาพทางน้ำ สภาพจิตใจผู้สูงอายุเคยได้มานั่งเล่นที่สระว่ายน้ำ อีกทั้ง มีค่าใช้จ่ายด้าน ค่าไฟฟ้า ค่าคลอรีน ในการบำรุงรักษาน้ำ ต้องเปิดปั้มน้ำตลอดเวลาให้น้ำมีการเคลื่อนไหวไม่ให้น้ำตกตะกอน รักษาน้ำให้ใส ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ปิดสระว่ายน้ำ ทางนิติบุคคลฯ จึงอยากขอความเป็นธรรมกับคณะ กมธ. เพื่อโปรดพิจารณาหาแนวทางผ่อนปรนให้สามารถเปิดบริการสระว่ายน้ำได้พลางก่อน ขณะนี้ทางนิติบุคคลฯ กำลังเร่งจัดทำเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร็วที่สุด
นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ กล่าวว่า ความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่ได้รับการแนะนำอย่างถูกวิธี ดังนั้นจึงควรมีหน่วยงานที่ให้คำแนะนำอย่างถูกต้องว่าต้องทำอย่างไร ในฐานะผู้แทนราษฎรและ กมธ. จะหาแนวทางแก้ไข เรื่องนี้เกิดขึ้นมาประมาณหนึ่งเดือนแล้วนับตั้งแต่วันที่ปิดสระแต่ยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร มีการตั้งคำถามจากสังคมรวมถึงลูกบ้านและคนที่จะปฏิบัติงานต่อจากนี้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป กมธ. จะนำปัญหาที่ได้รับในวันนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป
ด้านนายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535 ตั้งแต่ยังไม่มีมีการจัดตั้งนิติบุคคลแต่สุดท้ายลูกบ้านก็จัดสรรนิติบุคคลได้แล้วตั้งแต่ปี 2560 แสดงว่าลูกบ้านมีสิทธิ์ทำกิจกรรมต่าง ๆรวมทั้งการดูแลสาธารณะสาธารณูปโภคในหมู่บ้านที่เป็นที่สาธารณะ กมธ. จะพิจารณาประเด็นปัญหาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกบ้านเป็นสำคัญ และข้อมูลที่ได้จากลูกบ้านและทุกคนต้องได้รับการตอบสนองและได้รับการตอบรับอย่างดี รวมทั้งได้เรื่องของการชดเชยเยียวยา กมธ. จะพิจารณาเรื่องนี้ให้ถึงที่สุดเพื่อนำความยุติธรรมมาให้กับทุกคน