ประธานคณะ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย รองประธานคณะ กมธ.การพลังงาน คนที่สาม นายณกร ชารีพันธ์ สส.จังหวัดมุกดาหาร พรรคก้าวไกล และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายโง้น นาโศก ตัวแทนผู้ร้องเรียน เรื่อง คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงบังอี่ แปลงที่ 1 (ป่าสงวนภูยูง) พื้นที่ ต.นาโสก และ ต.กุดแข้ อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร
วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายศุภโชติ ไชยสัจ รองประธานคณะ กมธ.การพลังงาน คนที่สาม นายณกร ชารีพันธ์ สส.จังหวัดมุกดาหาร พรรคก้าวไกล และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายโง้น นาโศก ตัวแทนผู้ร้องเรียน เรื่อง คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงบังอี่ แปลงที่ 1 (ป่าสงวนภูยูง) พื้นที่ ต.นาโสก และ ต.กุดแข้ อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร
ด้วยกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ บริษัท พีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงบังอี่ แปลงที่หนึ่ง ต.นาโสกและต.กุดแข้ อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม เนื้อที่ 383 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 67 จนถึงวันที่ 3 เม.ย. 97 นั้น ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวมีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน ซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน เนื่องจากทางราชการไม่ออกเอกสารสิทธิให้แก่ชาวบ้าน แต่อนุญาตให้บริษัทเอกชนมาแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับจากการชดเชยเยียวยา จะมีความคุ้มค่ากับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าต้องเสียไปหรือไม่เพียงใด และปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจะอันเกิดจากการดำเนินการก่อสร้าง ตลอดจนผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ตลอดจนเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาอนุญาต ซึ่งต้องนำมาประกอบการพิจารณาดังกล่าวอย่างละเอียด ถี่ถ้วนและรอบคอบที่สุด นอกจากนี้การดำเนินโครงการดังกล่าว จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จึงขอให้คณะ กมธ.ทั้งสองคณะใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินโครงการในพื้นที่มาให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการ
นายณกร ชารีพันธ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ในฐานะ สส. ในพื้นที่ วันนี้มาร่วมรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในการขอใช้พื้นที่ป่าโดยไม่มีการทำประชาคม ถึงแม้ว่าพี่น้องประชาชนจะไม่มีสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวโดยตรงเนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ แม้จะมีการอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเป็นระยะเวลาเกือบ 100 ปีแล้วก็ตาม แต่กลับอนุญาตให้เอกชนเข้าใช้พื้นที่อย่างง่ายดาย และหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็ควรได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม และจะพยายามผลักดันเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด และถ้าโครงการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ประชาชนในพื้นที่ก็ควรจะได้รับเอกสารสิทธิต่อไป
ด้าน นายศุภโชติ ไชยสัจ รองประธานคณะ กมธ.การพลังงาน คนที่สาม กล่าวว่า คณะ กมธ.จะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา 2 ประเด็น คือ 1. ที่มาของโครงการ หากโครงการดังกล่าวอ้างอิงมาจากผลการคัดเลือกของคณะกรรมการกิจการพลังงาน ปี 2566 หมายความว่าโครงการดังกล่าวได้ถูกระงับการเซ็นสัญญาตามคำสั่งของศาลปกครอง จึงต้องมีการตรวจสอบที่มาว่าหากมีคำสั่งศาลออกมาเช่นนี้เหตุใดจึงมีการดำเนินการเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว 2. กระบวนการก่อสร้างถูกต้องตามหลักที่ควรจะเป็นหรือไม่ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการก่อสร้าง รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด จึงต้องมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ และผู้พัฒนาโครงการเข้ามาพูดคุยในคณะ กมธ. ในฐานะตัวแทนของคณะ กมธ.ขอรับเรื่องไปพิจารณาในที่ประชุมในคราวต่อไป
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะ กมธ.การที่ดินฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของคณะ กมธ.การที่ดินฯ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการให้อนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่ามีความถูกต้องตามกรอบกฎหมายหรือไม่ และผลกระทบที่พี่น้องประชาชนได้รับจะมีการชดเชยเยียวยาอย่างไร และมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ถูกต้องโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งคณะ กมธ.ทั้งสองคณะจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่อไป