ประธาน กมธ.การแรงงาน รับยื่นหนังสือจาก น.ส.รณิดา อัศวปราการกุล รักษาการกรรมการสหภาพแรงงานพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เรื่อง การถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธาน กมธ.การแรงงาน รับยื่นหนังสือจาก น.ส.รณิดา อัศวปราการกุล รักษาการกรรมการสหภาพแรงงานพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เรื่อง การถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 64 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีประกาศเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยพนักงานจำนวน 508 คน และต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 64 ได้มีประกาศเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยพนักงานจำนวน 854 คน ประกาศดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานทั้งสิ้นจำนวน 1,362 คน ทั้งในด้านหนี้สินครัวเรือน สถานภาพครอบครัวที่แตกแยก และนำมาซึ่งความลำบากของสมาชิกในครอบครัว พนักงานบางคนฆ่าตัวตายเพราะปัญหารุมเร้า แม้ประกาศ 2 ฉบับ จะบอกว่าเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชย แต่ข้อเท็จจริง บริษัทนำเงินค่าชดเชยของพนักงานจ่ายให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท การบินไทยฯ ทั้งจำนวน เท่ากับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างไม่ได้รับเงินค่าชดเชยมายังชีพแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งการถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ยังขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ มาตรา 5 การที่บริษัท การบินไทยฯ เปลี่ยนสภาพการจ้างต้องมีการแจ้งข้อเรียกร้องฝ่ายนายจ้าง หรือฝ่ายลูกจ้าง นำโดยสหภาพแรงงานที่มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของลูกจ้างทั้งหมด อาจยื่นข้อเรียกร้องโดยไม่ต้องมีรายชื่อ และลายมือชื่อลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เช่น สหภาพแรงานพนักงานการบินไทย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัท การบินไทยฯ และกรรมการสหภาพฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิพนักงาน เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติม 24 ข้อ โดยในระหว่างการดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว บริษัทฯ ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวน 1,362 คน ทันที ซึ่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ระบุไว้ว่าในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้างกรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการสหภาพแรงงาน หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง และพนักงานทั้งหมดที่ถูกเลิกจ้าง มิได้เข้าข้อยกเว้น การประกาศเลิกจ้างของบริษัทจึงตกเป็นโมฆะ ถึงแม้จะอ้างว่าเข้ากระบวนการพื้นฟูกิจการก็ตาม ประกาศบริษัททั้ง 2 ฉบับ จึงตกเป็นโมฆะทันที เท่ากับไม่มีการเลิกจ้าง และบริษัทยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานในการเลิกจ้างสหภาพฯ จึงไม่ชอบตามมาตรา 52 แห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ และไม่มีเหตุเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติในการคัดเลือกพนักงานตามโครงการกระบวนการกลั่นกรองเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เป็นการสุ่มให้กดเลือกเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองซึ่งบางโครงสร้างองค์กรยังเป็นโครงสร้างองค์กรเดิมเพียงแต่เปลี่ยนชื่อฝ่าย แผนก แต่ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ถูกเลิกจ้างแต่ประการใด แต่กลับมาเลิกจ้างพนักงานระดับปฏิบัติการที่จงรักภักดีต่อองค์กร ยอมเสียสละลดค่าจ้าง และร่วมมือปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทด้วยดีตลอดมาแต่ ไม่ถูกเลือกให้ปฏิบัติงานร่วมกับบริษัทอีกต่อไป และตรวจพบว่าบางหน่วยงานกลับเลือกพนักงานที่มีประวัติถูกสอบสวนทางวินัยข้อหาทุจริตและได้เข้าร่วมงานกับบริษัท แต่คนที่มีประวัติดีไม่เคยขาดลามาสายกลับถูกเลิกจ้าง ทำให้พิสูจน์ได้ว่ากระบวนการกลั่นกรองดังกล่าวไม่มีความยุติธรรม มีระบบเส้นสาย และเลือกปฏิบัติ จึงขอความเป็นธรรมต่อ กมธ. เพื่อหาแนวทางแก้ไข และช่วยเหลือพนักงานซึ่งเคยเป็นอดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างไม่ได้เรียกร้องเกินสิทธิเสรีภาพอันพึงมีพึงได้ และขอเปิดเวทีเจรจาเพื่อรับพนักงานกลับเข้าไปทำงานโดยบริษัทจ่ายค่าจ้างหรือค่าเสียหายอันถูกเลิกจ้างย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างบวกกับคำบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน รวมถึงวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งมีลักษณะงานด้านบริการ ไม่สามารถหยุดงานได้ ต้องทำการบินและดูแลผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องการที่จะหยุดแต่ไม่สามารถหยุดได้เนื่องจากขาดอัตรากำลังคน แต่บริษัทกำลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และตัดเงินค่าวันพักผ่อนประจำปีโดยไม่จ่ายให้ลูกเรือที่เรียกร้องในส่วนนี้ ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาสำหรับลูกเรือให้จ่ายคืนรวมถึงค่ารักษาพยาบาลค้างจ่ายสมัยเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งบริษัทแจ้งว่าเมื่อมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจะจ่ายให้พนักงานแต่ขณะนี้ผ่านมาหลายปีแล้วก็ยังไม่ได้เงินดังกล่าว รวมทั้งสิทธิบัตรโดยสารที่มอบให้กับผู้เกษียณอายุ และส่วนของพนักงาน
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กล่าวว่า การถูกเลิกจ้างของพนักงานกว่า 1,000 คน ส่งผลกระทบต่ออนาคตของพนักงานและครอบครัว ตนเข้าใจและเห็นใจ ทั้งนี้ จะบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ. โดยจะเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาหารือ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจุบันบริษัท การบินไทยฯ ดำเนินการจ้าง Outsource มาปฏิบัติงานแทนตำแหน่งที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่ง Outsource บางคนไม่มีทักษะที่ชำนาญ ส่งผลให้การบริการของสายการบินมีปัญหาตามที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ โดยบริษัทไม่ควรคำนึงถึงเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร และหลักมนุษยธรรมของพนักงานทุกคนด้วย บริษัท การบินไทยฯ เป็นสายบินแห่งชาติ ต้องมีความมั่นคงและเข้มแข็ง และต้องมีการดูแลพนักงานตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับผู้บริหารให้มีความสุข