ประธานคณะกมธ. การแรงงาน พร้อมด้วย รองประธานคณะ กมธ. คนที่สาม รับยื่นหนังสือจาก น.ส.วิไล ประกอบศรี ตัวแทนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน และคณะ เรื่อง ร้องเรียนปัญหาแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย
วันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกมธ. การแรงงาน พร้อมด้วย นายเซีย จำปาทอง รองประธานคณะ กมธ. คนที่สาม รับยื่นหนังสือจาก น.ส.วิไล ประกอบศรี ตัวแทนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน และคณะ เรื่อง ร้องเรียนปัญหาแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย
จากนั้นเวลา 10.20 น. นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ นายเซีย จำปาทอง พร้อมด้วย น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือดังกล่าวจาก น.ส.วิไล ประกอบศรี ตัวแทนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน และคณะ
เนื่องด้วยบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี มีนายจ้างเป็นชาวต่างชาติ ได้เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 51คน จากนั้นลูกจ้างได้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี และเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 67 ได้มีการออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างทั้งหมด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,817,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 บาทต่อปี นับตั้งแต่วันที่กระทำความผิด จนชำระเสร็จสิ้น และในขณะเดียวกันลูกจ้างทั้งหมดได้ยื่นขอใช้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ยื่นคำร้องผ่านพนักงานตรวจแรงงาน จ.ปทุมธานีอีกด้วยแต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินจากนายจ้าง และกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอให้คณะกมธ. หาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับเงินตามสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งเงินสงเคราะห์ลูกจ้างด้วย
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ยินดีต้อนรับคณะทุกท่าน กรณีที่บริษัทแห่งหนึ่งเลิกจ้างไม่ได้จ่ายค่าแรงให้แก่ลูกจ้างนั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ จะกลั่นกรองนายจ้างที่เป็นชาวต่างชาติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม คณะกมธ. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาสอบถามข้อเท็จจริง ส่วนการชดเชยหรือเยียวยาต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน คณะกมธ.ให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนภาคแรงงาน และจะพยายามหาแนวทางช่วยเหลือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นต่อไป
ด้าน นายเซีย จำปาทอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีลูกจ้างจากหลายโรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างได้เดินทางมายื่นหนังสือกับคณะ กมธ. เพื่อขอให้ช่วยเหลือติดตามให้นายจ้างนำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้าง ตนเข้าใจในความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่มายื่นหนังสือในวันนี้เป็นอย่างดี เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. 67 จนถึงตอนนี้ลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินค่าจ้าง และเงินชดเชยใด ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างนั้นตนเข้าใจเป็นอย่างดีเพราะว่าเคยมีประสบการณ์จากการอยู่ในกระบวนการแรงงานมาหลายสิบปี วันนี้อยากจะบอกกล่าวกับแรงงานว่า ตนจะพยายามหาช่องทางในการประสานงานช่วยเหลือแรงงาน โดยในเบื้องต้นจะขอให้รัฐบาลอนุมัติจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างให้กับลูกจ้างก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนเรื่องการติดตามเงินค่าชดเชยนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่กำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะต้องติดตามและเร่งรัดให้นายจ้างมารับผิดชอบ ตนในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่ในการช่วยเหลือประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเต็มความสามารถ พร้อมทั้งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่อไป และในฐานะรองประธานคณะ กมธ. แรงงาน จะใช้กลไกการทำงานของคณะกมธ. เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือพี่น้องแรงงานต่อไป