ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทน ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และคณะ เพื่อขอให้ตรวจสอบความเหมาะสมและจริยธรรมของนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่ไปยืนประท้วงหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และคณะ เพื่อขอให้ตรวจสอบความเหมาะสมและจริยธรรมของนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่ไปยืนประท้วงหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 67 ทำให้ นายรังสิมันต์ โรม พามวลชนไปยืนประท้วงหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ทุกครั้งที่มีผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เข้าไปในเรือนจำก็จะได้รับความเมตตาจากศาลให้มีการประกันตัวมาโดยตลอด ซึ่งหลายคนที่อยู่ในเรือนจำได้รับการประกันตัวหลายครั้ง แต่คนกลุ่มนี้เมื่อได้รับการประกันตัวแล้วจะออกมาทำพฤติกรรมเดิม ๆ คือการหมิ่นสถาบัน ทั้งนี้ ศปปส. เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมืองที่จะมีการนิรโทษกรรม แต่เป็นคดีความมั่นคงซึ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้น ทาง ศปปส. จึงทำหนังสือเพื่อนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการตรวจสอบ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และขอคัดค้านไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โดยเด็ดขาด
นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ตนเป็นตัวแทนของประธานสภาผู้แทนราษฎรมารับหนังสือจากกลุ่ม ศปปส. โดยจะดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการและนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป