นายนิกร จำนง เลขานุการคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แถลงข่าวความคืบหน้าร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายนิกร จำนง เลขานุการคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แถลงข่าวความคืบหน้าร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยขณะนี้คณะกรรมการฯ ดำเนินการตามกรอบและขั้นตอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมเสนอครม. สัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ วันที่ 18 มิ.ย. นี้
ตามมติ ครม. วันที่ 23 เม.ย. 67 ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ในประเด็นตามรายงานของคณะกรรมการฯ โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาและหากมีร่าง พ.ร.บ. ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ระหว่างการบรรจุวาระการประชุม หรือได้บรรจุวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ให้นำร่างดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ซึ่ง สปน. ได้ดำเนินการจัดประชุมหารือกับพรรคการเมืองที่เสนอบรรจุวาระร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภา รวมทั้งได้หารือกับ กกต. และสำนักงานกฤษฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 67 จากนั้นได้ทำการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมาแล้วนำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 3 - 18 พ.ค. 67 ครบ 15 วันแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนการดำเนินการแก้ไข ในขณะที่สำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นว่าไม่ควรกำหนดการออกเสียงประชามติส่วนที่เพื่อเป็นการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี แต่รัฐบาลไม่ผูกพันผลของการออกเสียงประชามติว่าอาจเป็นการสิ้นเปลือง ส่วนความเห็นของ กกต. ก็ได้รับฟังไว้เรียบร้อยแล้ว จากนั้น สปน. ได้ปรับปรุงร่างตามผลการรับฟังความเห็นและปรับปรุงตามความเห็นของกฤษฎีกาเสร็จเรียบร้อย พร้อมจัดเตรียมเอกสารอื่น ๆ ตามกรอบและขั้นตอนการออกกฎหมายเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบภารกิจนี้ก็พร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอน เพื่อให้ทันเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ .... ของรัฐบาลนั้น ดำเนินการตามกรอบและขั้นตอนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว รอเสนอเข้าสู่ขบวนการพิจารณาของครม.สัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะเสนอทันเข้าร่วมในการพิจารณาของสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 18 มิ.ย. 67 ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มี 6 ประเด็น ดังนี้
1. กำหนดให้หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่กรณี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียงอาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง
2. กำหนดให้การออกเสียงกระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่งหรือหลายเขตออกเสียง
3. กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงและต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
4. กำหนดให้ กกต. เผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ
5. กำหนดให้การออกเสียงจะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้
6. กำหนดหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียง หากพื้นที่ใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระในวันเดียวกับการออกเสียง ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้น เป็นหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงในพื้นที่ดังกล่าว