รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... คนที่หนึ่ง พร้อมด้วย โฆษกคณะ กมธ. รับยื่นหนังสือจาก ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และคณะ เรื่อง ขอให้ทบทวนบทบาทและการทำหน้าที่ของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....
วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา น.ส.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... คนที่หนึ่ง พร้อมด้วย น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ โฆษกคณะ กมธ. รับยื่นหนังสือจาก นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และคณะ เรื่อง ขอให้ทบทวนบทบาทและการทำหน้าที่ของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....
ตามที่ คณะกมธ. อยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งได้มีการจัดประชุมและเชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อให้ข้อมูลหลายครั้งแล้วนั้น ด้วยขณะนี้แม้ฝุ่น PM 2.5 เหมือนจะคลี่คลาย แต่ก็เป็นเพียงภาพลวงในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล และสถานการณ์จะกลับมารุนแรงอีกครั้ง ดังนั้นการเร่งออกร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... จึงเป็นหนทางของความหวังที่จะแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามการรีบเร่งแบบไม่ระวังเรื่องคุณภาพเนื้อหาอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการสร้างปัญหาใหม่ซ้อนปัญหาเดิม ร่าง พ.ร.บ. ที่จะออกมาบังคับใช้นั้นจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะด้านสุขภาพของประชาชนที่มีคุณค่าและมีน้ำหนักมากกว่าผลประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อมลพิษทางอากาศจนเป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร สสรท. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) องค์กรสมาชิกและเครือข่าย ซึ่งเป็นองค์กรด้านแรงงานทั้งในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน และเป็นผู้ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน) ได้เฝ้าติดตามการประชุมของคณะ กมธ. พบว่ามีประเด็นที่เป็นข้อกังวลของประชาชนที่เฝ้าติดตาม และต้องระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่
1. การแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายอากาศสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนที่ผ่านบทบาทของที่ปรึกษา กมธ. ที่มาจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างมากเกินไป จนเสมือนเป็นการด้อยค่าบทบาทของ กมธ.ตัวจริงลงไป
2. การคัดค้านการจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาดจากหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชน โดยอ้างวาทกรรมว่าเป็นการขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นการขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องในหลักการของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง และมองไม่เห็นถึงความจำเป็นของการต้องมีกองทุนอากาศสะอาด
3. ร่าง พ.ร.บ. ทั้งเจ็ดฉบับได้รับการโหวตให้ผ่านวาระรับหลักการมาด้วยกันทั้งเจ็ดฉบับ แม้ว่าจะให้พิจารณาร่างฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าให้ตัดร่างอีกหกฉบับที่เหลือทิ้งไป ซึ่งยังมี กมธ. และผู้เกี่ยวข้องบางท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนในประเด็นนี้ ส่งผลให้การทำงานทั้งในคณะ กมธ. และในคณะอนุ กมธ.ให้น้ำหนักกับบทบาทของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นองคาพยพของฝ่ายบริหารมากกว่าบทบาทของคณะ กมธ.ที่ไม่ได้มาจากฝ่ายบริหารหรือที่มาจากหน่วยงานรัฐ
4. การเชิญบุคคลหรือผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. เป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้าน แต่การได้รับข้อมูลและความเห็นดังกล่าวนั้น มักอยู่บนทัศนคติ อาจขาดการคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
ดังนั้น จึงขอเรียกร้อง ให้คณะ กมธ.ดำเนินการ ดังนี้
1. ประธานคณะ กมธ. ประธานคณะอนุ กมธ. และ กมธ. ทุกท่าน ต้องตั้งมั่นชัดเจนในหลักการ เป้าหมาย และบทบาทของในการทำงานของท่าน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากการทำหน้าที่ของคณะ กมธ. ชุดนี้ ล้วนเป็นความหวังของประชาชน ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นพิษ ดังนั้น หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้ไม่ได้จริง หรือแก้ปัญหาแท้จริงไม่ได้ อันเนื่องมาจากข้อกังวลต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย และที่ร่วมผลักดันจากทุกภาคส่วนตลอดมา
2. ต้องให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนระบบกลไกโครงสร้างการบริหารจัดการและกำกับดูแลอากาศสะอาด และการจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาด เพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการอากาศสะอาดให้ได้อย่างประสบผลสำเร็จ
น.ส.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า จากข้อสังเกตและความกังวลต่าง ๆ จากประชาชนที่ได้นำเสนอในวันนี้ไม่ได้มาจากส่วนตัวแต่มาจากหลาย ๆ ภาคส่วน การมายื่นหนังสือในวันนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังประชาชนที่มาจากทุกภาคส่วน ที่มีความกังวลประเด็นความจริงใจของการทำงานของคณะกมธ. ทั้งนี้ขอยืนยันว่าคณะ กมธ. ทำงานอย่างจริงจังและพิจารณาเนื้อหาอย่างรอบคอบเพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาให้กับประชาชนได้จริง ไม่ใช่แค่ทำเพียงให้ได้ชื่อว่ามีกฎหมายอากาศสะอาดผ่านออกมาแต่เนื้อหาข้างในไม่มีอะไรที่การันตีได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
ด้าน น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ กล่าวว่าขอให้เชื่อมั่นว่า คณะ กมธ.ดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างจริงจัง