คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นำโดย น.ส.อรรณว์ ชุมาพร โฆษกคณะ กมธ. และคณะ กมธ.ภาคประชาชน นักกิจกรรม และตัวแทนคู่รัก LGBTI+ แถลงข่าว
วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 เวลา 10.15 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นำโดย น.ส.อรรณว์ ชุมาพร โฆษกคณะ กมธ. และคณะ กมธ.ภาคประชาชน นักกิจกรรม และตัวแทนคู่รัก LGBTI+
แถลงข่าวการเข้าร่วมการประชุมและติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของวุฒิสภา
โดยวันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะทุกคนต่างรอคอยมาเป็นระยะเวลานานเพื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาตามกฎหมาย ซึ่งวุฒิสภาจะพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 หากได้รับมติเห็นชอบจาก สว. ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และจะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา และหลังจาก 120 วัน ทุกคนก็สามารถไปที่อำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อจดทะเบียนสมรสได้ ทั้งนี้ ในนาม กมธ.ภาคประชาชนก็ได้ประชุมร่วมกับ สว. ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ค่อนข้างได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีมาก และคาดหวังว่าจะผ่านการพิจารณาในวันนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนคู่รักที่ต้องการกฎหมายฉบับนี้จริง ๆ 6 คู่ นำโดยคู่ปู่ย่าที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาถึง 30 ปี และไม่เคยคาดคิดว่าจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้ มาร่วมรับฟังการพิจารณา
โดยหากประเทศไทยได้รับมติเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะยืนยันถึงการเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ หลังการพิจารณาของวุฒิสภา ในช่วง 15.00 น. ทางคณะจะขอมอบดอกไม้และแสดงความขอบคุณในการผลักดันสมรสเท่าเทียมผ่านรัฐสภา จากนั้น บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จะมีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองการเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป โดยมีการเดินขบวนจากรัฐสภาไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ถนนสายรุ้งแห่งความเท่าเทียมนี้จะเต็มไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย และในช่วงเวลา 17.00 - 20.00 น. จะมีกิจกรรม "ประกาศชัยชนะแห่งสมรสเท่าเทียม" ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีการแสดง Drag Show ขบวนพาเหรด และการพูดคุยจากนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของการเคลื่อนไหวเพื่อสมรสเท่าเทียม แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในสังคมที่เปิดกว้างและยอมรับในความหลากหลายทางเพศอีกด้วย วันนี้เราพร้อมแล้วที่จะร่วมกันต่อสู้เป็นครั้งสุดท้ายและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมในประเทศไทย