วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน และคณะ แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมคณะ กมธ. เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 67) ซึ่งได้พิจารณาเรื่อง ปัญหาการถอนตัวของสถานพยาบาลคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม และสถานการณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของกองทุนประกันสังคม โดยเชิญเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมและผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ มาร่วมประชุมด้วยคณะ กมธ.
ได้รับทราบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในระบบ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ในอนาคตอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการถอนตัวของสถานพยาบาลคู่สัญญาให้บริการทางการแพทย์กับสำนักงานประกันสังคม และอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกันตนที่แจ้งความประสงค์ใช้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลดังกล่าว ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล คณะ กมธ. เห็นว่า ประเด็นปัญหาการประกาศขอถอนตัวของสถานพยาบาลคู่สัญญา เกิดจากความไม่พอใจในการที่ถูกวินิจฉัย และมีคำสั่งให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนเฉพาะรายไปใช้สิทธิรักษาสถานพยาบาลอื่น ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวหากได้มีการชี้แจงและสร้างความเข้าใจระหว่างสถานพยาบาลกับสำนักงานประกันสังคม จะส่งผลดีและเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตน
โดย พล.ต.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ให้ข้อมูลต่อคณะ กมธ. ว่า เนื่องจากมีผู้ประกันตนของโรงพยาบาลฯ รายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไปรักษาโรคที่โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งเป็นโรงพยาบาลนอกสิทธิประกันสังคมของตน โดยประสงค์จะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ผู้ประกันตนอยู่ กรณีนี้ ผู้ประกันตนไม่สามารถเบิกคำรักษาจากโรงพยาบาลต้นสังกัดได้ เนื่องจากโรคมะเร็งไม่เข้าหลักเกณฑ์กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินขั้นวิกฤตที่ผู้ประกันตนจะสามารถเข้ารับการรักษาฟรีภายใน 72 ชั่วโมง ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนได้ จากข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ประกันตนรายนี้พยายามอ้างสิทธิต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ จึงได้ร้องทุกข์ไปยังสำนักงานประกันสังคม โดยได้นำเข้าสู่คณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งภายหลังการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 จึงมีคำสั่งให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนรายนี้ โดยให้เหตุผลว่าโรงพยาบาลไม่ได้ให้บริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีแผนการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ชัดเจน จากข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ประกันตนรายนี้ได้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เพียงบอกว่าตนเป็นโรคมะเร็ง แต่ได้เลือกรักษาที่โรงพยาบาลอื่นนอกสิทธิประกันสังคมของตนเอง การที่สำนักงานประกันสังคม มีคำสั่งให้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลนั้น จึงไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ พล.ต.เหรียญทอง แน่นหนา ได้ยืนนว่าโรงพยาบาลจะเป็นคู่สัญญาให้บริการทางการแพทย์กับสำนักงานประกันสังคมต่อไป โดยมีข้อแนะนำให้แก่สำนักงานประกันสังคม ดังนี้
1. ระบบการพิจารณาการร้องเรียน และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต้องมีความเป็นธรรม ควรรับฟังและสอบสวนข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน
2.สำนักงานประกันสังคม ควรแก้ไขกฎระเบียบในการขยายอัตราการขึ้นทะเบียนของผู้ประกันตน
ในแต่ละสถานพยาบาล โดยให้แปรผันตามจำนวนเตียงของสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล
3. ระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคม ต้องจ่ายเงินตรงตามกำหนดระยะเวลา ไม่ค้างจ่ายกับสถานพยาบาลด้านผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ได้ให้ข้อมูลต่อคณะ กมธ. ว่า รูปแบบการบริหารจัดการในเรื่องของการให้บริการทางการแพทย์กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเป็นรูปแบบไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานประกันสังคม รัฐบาล และสถานพยาบาลคู่สัญญา โดยให้สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลทำสัญญาให้บริการทางการแพทย์กับสำนักงานประกันสังคมแบบปีต่อปี ในขณะนี้มีสถานพยาบาลเอกชนเป็นคู่สัญญากว่า 280 สถานพยาบาล การที่ผู้ประกันตนจะใช้สิทธิประกันสังคมในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่สถานพยาบาลที่ได้เลือกไว้แต่แรกนั้น จะต้องเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินขั้นวิกฤตที่ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาฟรีภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งจากข้อเท็จจริง ผู้ประกันตนได้มาร้องทุกข์กับสำนักงานประกันสังคมไว้ โดยได้นำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และได้มีคำสั่งให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนกว่า 80,000 บาท เนื่องจากพบว่าไม่มีแผนการรักษาโรคมะเร็งที่ชัดเจน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ไปพิจารณา เพื่อทบทวนมติของคณะกรรมการอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ในการนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรอฟังมติของคณะกรรมการอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง และขอให้คณะกรรมการอุทธรณ์ ทบทวนมติที่มีคำสั่งให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนที่ไปทำการรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยให้มีการรับฟังข้อมูลจากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และผู้ประกันตนอย่างรอบด้านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป