ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมด้วย รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง และคณะ รับยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ข้อ จากสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากช้างป่าอย่างยั่งยืน จาก ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดระยอง และ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และคณะ
วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมด้วย นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง และคณะ รับยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ข้อ จากสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากช้างป่าอย่างยั่งยืน จากนายเสถียร เสือขวัญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดระยอง และนายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และคณะ
ด้วยสภาเกษตรกรแห่งชาติได้สรุปข้อมูลและสำรวจผลกระทบจากเหตุการณ์ช้างป่าบุกรุกที่ทำกินของเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีเกษตรกรอย่างน้อย 23 จังหวัด 81 อำเภอ 109 ตำบล ได้รับผลผลกระทบจากช้างป่า 34,425 ราย พบเห็นช้างป่าจำนวน 1,474 ตัว ดังนั้น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเป็นการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน สภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงขอยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายพร้อมข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะต่อคณะกมธ. เพื่อเร่งรัดและผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้
1. เร่งสร้างแนวป้องกันช้างป่าที่แข็งแรงมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการบุกรุกของช้างป่า
2. เพิ่มชุดปฏิบัติการของรัฐและชุดอาสาสมัครเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าให้เพียงพอ พร้อมจัดสวัสดิการให้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้อาสาสมัคร
3. นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการตรวจนับจำนวนประชากรช้างป่า และสนับสนุนให้มีระบบเตือนภัยช้างป่าที่มีประสิทธิภาพ
4. สร้างและฟื้นฟูแหล่งน้ำ แหล่งอาหารช้างป่าในเขตป่าอนุรักษ์ให้เพียงพอและห่างไกลจากพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อดึงดูดช้างป่าให้กลับสู่ป่า
5. หากพื้นที่ใดมีจำนวนช้างป่าเกินพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รัฐควรจัดหาที่ดินของรัฐและเอกชนเพิ่ม เพื่อสร้างเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า
6. ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้บุกรุกป่าหรือลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย
7. แก้ไขระเบียบการชดเชยเยียวยากรณีพืชผลทางการเกษตรเสียหายและเกษตรกรถูกช้างป้าทำร้ายบาดเจ็บหรือสูญเสียถึงแก่ชีวิตอย่างเป็นธรรม ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน
8. จัดตั้งกองทุนสนับสนุนช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยช้างป่าโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
9. ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์
10.ในการแต่งตั้งอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ขอให้มีสัดส่วนภาคเกษตรกรร่วมอยู่ในคณะด้วย
ด้านนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ กล่าวว่า จะนำข้อเสนอแนะนำที่ได้รับจากสภาเกษตรกรแห่งชาติเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรจากการที่ถูกช้างป่าบุกรุก ไปศึกษาและพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และจะนำไปเป็นข้อมูลประกอบในรายงานผลการศึกษาของคณะ กมธ. เพื่อให้รายงานมีความสมบูรณ์มากที่สุด และสามารถนำผลสรุปไปใช้เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องเกษตรกรต่อไป