รองประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม คนที่สี่ และรองหัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ แถลงข่าว
วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม คนที่สี่ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐคัดค้านการออกกฏหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ สส.พรรคพลังประชารัฐทุกคนจะลงมติไม่เห็นด้วยหากมีการเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา
นายไพบูลย์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มีหลักการที่สำคัญคือจะต้องปกป้องสถาบันให้มั่นคง สถาบันเป็นที่ยึดมั่นศรัทธาของประชาชนตลอดไป ไม่ต้องการให้ผู้ใด กลุ่มบุคคลใด มากระทำการใด ๆ กระทบกระเทือนต่อสถาบัน พรรคมีจุดยืนชัดเจนไม่เห็นด้วยในการออกกฏหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด มาตรา 112 ไม่ว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มาตรา 112 จะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข พรรคขอคัดค้านด้วยเหตุผลดังนี้
ประการที่หนึ่ง ประชาชนทั่วทั้งประเทศจำนวนหลาย 1,000,000 คน ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันจะมีการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านหากรัฐสภาออกกฏหมายนิรโทษกรรม มาตรา 112 จะเป็นการทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมครั้งใหญ่ ทำให้ประเทศมีความไม่สงบ ไม่มีความปรองดอง
ประการที่สอง การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็นการฝ่าฝืนขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงไว้ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้ ซึ่งการที่กำหนดมาตรา 112 เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ให้ไม่ต้องได้รับผลกระทบดังกล่าว ดังนั้นการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เป็นการทำให้การกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 112 ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ซึ่งในความเห็นของตน คิดว่าจะยิ่งทำให้มีความรุนแรงและขัดแย้งต่อมาตรา 6 มากกว่าการออกกฏหมายแก้ไขมาตรา 112 และจะเป็นการทำให้การกระทำผิดตามมาตรา 112 ไม่เป็นความผิดต่อไป
ประการที่สาม การออกกฎหมายนิรโทษกรรม มาตรา 112 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งมีความบางตอนว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้เช่นนี้ และวินิจฉัยไว้ชัดเจน ว่าให้การคุ้มครองกับสถาบัน ดังนั้นการให้ผู้กระทำผิดที่ถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ได้รับการนิรโทษกรรมด้วยการออกกฏหมายความผิดจึงเป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง ทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นการจะไปอ้างว่าเสนอให้มีการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ไม่มีเจตนาทางการเมืองไม่ได้ นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามและอ่อนแอ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้น การออกกฏหมายนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดมาตรา 112 เป็นการออกกฏหมายที่มีความร้ายแรงรุนแรงมากกว่าการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ด้วยซ้ำ พรรคจึงคัดค้านไม่เห็นด้วย
โดยพล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค มีนโยบายในการปกป้องสถาบันอย่างชัดเจน จึงขอแถลงต่อสื่อมวลชนว่าพรรคพลังประชารัฐคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และหากมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่งไม่ว่าจะกี่ฉบับ สส.พรรคพลังประชารัฐทุกคนจะลงมติไม่เห็นด้วยทุกฉบับ เพื่อให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตกไปตัั้งแต่วาระหนึ่ง