ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ รับยื่นหนังสือจากน.ส.ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ ผู้แทนพันธมิตรชานมประเทศไทยและเครือข่ายประชาชนไทยเพื่อคนพม่า
วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.15 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ รับยื่นหนังสือจากน.ส.ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ ผู้แทนพันธมิตรชานมประเทศไทยและเครือข่ายประชาชนไทยเพื่อคนพม่า เรื่อง ขอให้คณะ กมธ. พิจารณาสนับสนุนข้อเรียกร้องจาก 240 องค์กรภาคประชาสังคมในเมียนมาและองค์กรระหว่างประเทศ
เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรธนาคารเศรษฐกิจเมียนมา และ บริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา
ตามที่มีการกล่าวอ้างว่าประเทศไทยให้บริการทางการเงินและให้การสนับสนุนในการจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา อันปรากฏในรายงานของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาตินั้น
ทำให้ประเทศไทยตกเป็นจำเลยในประเด็นส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในประเทศเมียนมา แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลไทยยังคงเมินเฉยต่อรายงานและข้อกล่าวหาดังกล่าว ขณะที่สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ต่างออกมาดำเนินนโยบายคว่ำบาตรต่อธนาคารเศรษฐกิจเมียนมา (Myanma Economic Bank : MEB) และ บริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา (Myanma Oill and Gas Enterprise : MOGE) ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมมีความกังวลอย่างมากต่อความนิ่งเฉยของรัฐบาล จึงร่วมกับ 240 องค์กรภาคประชาสังคมในเมียนมาและองค์กรระหว่างประเทศในการออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ไม่นิ่งเฉยต่อปัญหานโยบายของไทยที่อนุญาตให้กลุ่ม ปตท. และธนาคารไทยสนับสนุนการเผด็จการในเมียนมา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรอันเป็นการตัดการเข้าถึงบริการทางการเงินระหว่างประเทศของการเผด็จการในเมียนมา ตัดการเข้าถึงรายได้จากก๊าซ พร้อมทั้งดำเนินการตามการนำของสิงดโปร์เพื่อให้แน่ใจว่าธนาคารไทยไม่ได้อำนวยการจัดซื้ออาวุธและเชื้อเพลิงอากาศยานของการเผด็จการในเมียนมา และขอเรียกร้องให้ธนาคารไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ยุติการทำธุรกรรมทั้งหมดอันเป็นการสนับสนุนการเผด็จการในเมียนมา รวมทั้งขอเรียกร้องให้บริษัท ปตท. ยุติการมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ปิดกั้นรายได้ก๊าซธรรมชาติของการเผด็จการในเมียนมา ตามเสียงเรียกร้องจากภาคประชาสังคมเมียนมาและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ตบอดจนขอเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท. ดำเนินการตามการนำของกองทุu Norvegian Sovereign Wealth Fund และ Rebeco ถอนการลงทุนจากกลุ่ม ปตท. เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า คณะ กมธ. ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และได้พยายามดำหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ โดยล่าสุดมีสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คณะ กมธ. ได้รับคำอธิบายจากธนาคารต่าง ๆ และตนได้ตั้งกระทู้ถามสด รมว.ต่างประเทศ และได้รับคำชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมต่อการดำเนินการในเรื่องนี้ จุดยืนของคณะ กมธ. ไม่ต้องการเห็นการใช้ทรัพยากรและการใช้ระบบธนาคารของประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อขายอาวุธที่นำไปสู่การทำร้ายประชาชนในเมียนมา นี่ไม่ใช่คุณค่าที่สังคมไทยยอมรับได้ และไม่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำร้ายประชาชน วันที่ 2 ส.ค. นี้ กมธ. จะเดินทางไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อติดตามเรื่องนี้ นอกจากนี้ปลายเดือนสิงหาคมจะเดินทางไปกระทรวงการต่างประเทศเพื่อติดตามเรื่องนี้เช่นเดียวกัน