รองประธานคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจาก ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก อดีตผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แทรกแซงการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.40 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ รองประธานคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจาก นายปริญ เกษะศิริ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ อดีตผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แทรกแซงการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ด้วยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 57 นายอดิศร เกียรติโชติวิวัฒน์ ได้ทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทอลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จากตัวแทนของบริษัทฯ ที่ได้ชักชวนว่าจะได้รับผลประโยชน์ในระหว่างสัญญาร้อยละ 5 ต่อปี ของเงินเบี้ยประกันที่ชำระแล้ว ต่อมาปลายปี 2558 ได้รับเงินผลประโยชน์จากกรมธรรม์เพียงร้อยละ 1.4 จึงทำหนังสือขอให้บริษัทฯ คืนเงินเบี้ยประกันจำนวน 1 ล้านบาท ที่ชำระไปแต่บริษัทฯ ปฏิเสธ จนเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66 ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงาน คปภ. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้อนุญาโตตุลาการของ คปภ. ชี้ขาดให้บริษัทฯ ชดใช้เงินเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินจำนวน 1,583,253.42 บาท ซึ่งคู่พิพาททั้งสองฝ่ายต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบจนเสร็จสิ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 67 คณะกรรมการ คปภ. มีหนังสือพร้อมส่งสำเนาคำชี้ขาด ยกคำเสนอข้อพิพาทโดยให้เหตุผลว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทฯ ไม่ได้ฉ้อฉลในการขายประกันชีวิตจึงไม่สามารถยกเลิกสัญญาประกันชีวิตได้ สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆะ ไม่สามารถขอคืนเบี้ยประกันได้ แต่ภายหลังจากที่นายอดิศร ได้รับสำเนาคำชี้ขาดข้อพิพาท ได้มีบุคคลผู้ประสงค์ดีในสำนักงาน คปภ. นำเอกสารมาส่งให้ ประกอบด้วย 1) สำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยชี้ขาดให้ นายอดิศร เป็นฝ่ายชนะข้อพิพาท โดยฟังว่าตัวแทนของบริษัทฯ ได้ชักชวนให้ทำประกันสัญญาชีวิตแต่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามคำชักชวนที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 4 - 5 สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ บริษัทฯ ต้องชำระเงินเบี้ยประกันที่ได้รับจำนวน 1 ล้านบาท คืนพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันรับเงิน และ 2) สำเนารายงานการพิจารณาครั้งที่ 5 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 67 สรุปความว่า คปภ. แจ้งให้อนุญาโตตุลาการผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทคืนสำนวนด้วยเหตุผลว่า ได้รับแจ้งว่าอนุญาโตตุลาการผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทไม่สบาย มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไม่สะดวกที่จะจัดทำร่างคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนี้ต่อไปให้เสร็จในระยะเวลาอันใกล้นี้เนื่องจากต้องหยุดพักรักษาตัว จึงขอถอนตัวจากการเป็นอนุญาโตตุลาการและให้คืนสำนวนให้สำนักงานคปภ. เพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ เมื่อปรากฏว่าคำชี้ขาดข้อพิพาทเรื่องนี้มี 2 แบบที่แตกต่างกัน คือ ฉบับต้นเดือนมิ.ย. 67 ปี ชี้ขาดให้นายอดิศร ชนะข้อพิพาท ส่วนฉบับปลายเดือนมิ.ย. 67 ชี้ขาดให้บริษัทฯ ชนะข้อพิพาท นายอดิศร จึงมีหนังสือถึงเลขาธิการ คปภ. ขอให้แก้ไขรับผิดชอบคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท แต่เลขาธิการ คปภ. ไม่ได้ดำเนินการให้มีการตรวจสอบ สอบสวน และแก้ไขแต่อย่างใด จึงขอความเป็นธรรมต่อคณะ กมธ. ให้เรียกเลขาธิการ คปภ. คณะกรรมการ และผู้เกี่ยวข้อง มาสอบสวนหาความเป็นจริงว่ามีการแทรกแซงกระบวนการทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ มีการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลหรือนิติบุคคลใด และมีการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์หรือไม่
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนและคณะ กมธ. เพื่อพิจารณาต่อไป