วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ รับยื่นหนังสือจาก น.ส.สดใส สร่างโศรก ผู้ประสานงานเครือข่าย
ประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-เขื่อนแม่น้ำโขง เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย (Phou Ngoy) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อาจจะกระทบ ความมั่นคงของรัฐไทย ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ กำหนดสร้างบนลำน้ำโขงสายหลักในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ห่างจากเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก 18 กิโลเมตร และห่างจากจุดบรรจบแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ประมาณ 60 กิโลเมตร สันเขื่อนสูง 40 เมตร ยาว 3,088 เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากำลังผลิตรวม 728 เมกะวัตต์ โดยถูกบรรจุเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง เครือข่ายฯ มีข้อห่วงใยว่า การศึกษาผลกระทบ ของโครงการที่ไม่มีความชัดเจนและไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่รับผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะผลกระทบต่อพื้นที่ประเทศไทยและคนไทย และแม้อาจมีการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมในอนาคตแต่มาตรการลดผลกระทบต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นคงไม่สามารถชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้จริง ดังต่อไปนี้ 1. ทำให้การเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่สำคัญ เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ และเขตพระราชฐานเรือนสุขนที รวมทั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการไหล การสะสมของตะกอน รวมถึงกระทบโดยตรงต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและการระบายน้ำของเขื่อนปากมูล ตลอดจนจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการอุทกภัย โดยทำให้ จ.อุบลราชธานี กลายเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมรุนแรงและภาวะน้ำท่วมที่กินเวลายาวนานกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและมิอาจประเมินได้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม 2. กระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำลายปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนและแหล่งรายได้สำคัญของคนลุ่มน้ำโขง เนื่องจากตัวเขื่อนจะขวางเส้นทางการอพยพของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงส่วนใหญ่อย่างถาวร และการมีทางปลาผ่านซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขผลกระทบในด้านนี้ของโครงการสร้างเขื่อนที่ผ่านมายังเป็นที่น่าสงสัยถึงประสิทธิภาพที่แท้จริง
3. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลำน้ำและร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเส้นพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งยังไม่มีความตกลงหรือการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน ความไม่ชัดเจนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทย อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยเหนือพื้นที่บางแห่งได้ ขณะที่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
4. พลังงานไฟฟ้าที่จะได้จากเขื่อนพูงอย ซึ่งกำลังถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ไม่อาจถือได้ว่าเป็นพลังงานสะอาดที่แท้จริง เนื่องจากเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชน โดยการอพยพย้ายถิ่นฐานประชาชนในพื้นที่จำนวนหลายร้อยครัวเรือน และอีกจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้สูญเสียที่ดินทำกิน ขณะเดียวกันพลังงานไฟฟ้าที่ได้และกำลังถูกนับรวมในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยดังกล่าวนี้ อาจเป็นส่วนของการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนในแง่ของการสร้างหลักประกันด้านรายได้และกำไร หรือไม่ เครือข่ายประชาชนฯ จึงขอให้ คณะกมธ. ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวนี้อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐไทยและความเดือดร้อนของประชาชนไทย