รองประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข คนที่หนึ่ง และคณะ แถลงข่าวเกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข คนที่หนึ่ง และคณะ แถลงข่าวเกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรณีการคำนวณรายจ่ายรายหัวต่อผู้ป่วยที่จะต้องแอดมิทนอนโรงพยาบาลหรือผู้ป่วยในที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทองของ สปสช. ที่ลดอัตราการจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในผ่านสูตรคำนวณจ่ายแบบ Adjusted Relative Weight ทำให้โรงพยาบาลที่มีเตียงรักษาผู้ป่วยในมีรายรับลดลงร้อยละ 30 เรื่องนี้ไม่เพียงกระทบต่อรายได้ที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนเพิ่มเท่านั้น แต่กระทบต่อคุณภาพการรักษาผู้ป่วย และคุณภาพชีวิตของบุคลากรของโรงพยาบาล รวมถึงความเชื่อมั่นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาทิ กรณีผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปกติจะต้องแอดมิทเป็นผู้ป่วยในเสมอ โรงพยาบาลจะได้รับการใช้จ่ายจาก สปสช. 8,350 ต่อหัว แต่หลังจากวันที่ 3 ก.ค. 67 สปสช. ได้ปรับลดค่าชดเชยที่จะจ่ายให้กับโรงพยาบาลในผู้ป่วยโรคปอดเหลือเพียงประมาณ 4,531 บาท เท่านั้น ซึ่งอาจต่ำกว่าต้นทุนการรักษา สถานการณ์นี้เท่ากับว่า ยิ่งโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยในหรือรับผู้ป่วยในมากเท่าไรก็ยิ่งจะขาดทุนมากเท่านั้น หรือกรณีผู้ป่วยผ่าตัดไส้ติ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยสีแดงที่จะต้องแอดมิท แต่แทนที่โรงพยาบาลจะได้รับเงินชดเชย 10,000 บาท กลับได้เพียง 7,000 บาทเท่านั้นปัญหานี้แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและยังได้รับการรักษาฟรีเช่นเดิม แต่ผลกระทบจากการปรับสูตรคำนวณการจ่ายนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะหากโรงพยาบาลยิ่งรักษาผู้ป่วยใน ยิ่งขาดทุน จะทำให้เกิดผลเสีย คือ
1. โรงพยาบาลบางแห่งอาจมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นในการพิจารณารับคนไข้รักษาเป็นผู้ป่วยใน
2. โรงพยาบาลอาจลดต้นทุนการจัดบริการ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเพราะมีการร้องเรียนเข้ามามากว่า พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลบางแห่งถูกตัดเงินที่ได้จากการทำงานล่วงเวลา ซึ่งจะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจทำให้บุคลากรบางส่วนลาออกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลบางแห่งอาจมีความจำเป็นต้องลดจำนวนบุคลากรลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อให้คุ้มทุนกับรายได้ที่ได้รับ ส่งผลต่อคุณภาพการบริการที่ลดลง บุคลากรที่เหลืออยู่มีภาระงานมากขึ้น เครียดมากขึ้น และตัดสินใจลาออกจากงาน
3. บางโรงพยาบาลมีการรับภาระแหล่งรายได้จากทางอื่นมาจุนเจือการจัดบริการ เช่น โน้มน้าวให้ข้าราชการเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในมากขึ้นเพราะสามารถเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวน ส่งผลให้เกิดการเหลื่อมล้ำในการรักษาที่มากเกินไปกับคนกลุ่มหนึ่ง
4. บางโรงพยาบาลอยู่ได้ด้วยการยืมยาและติดหนี้ค่ายา การได้รับเงินสนับสนุนน้อยลงทำให้ขาดสภาพคล่องในการรักษาทำให้การรักษาพยาบาลไม่ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
จึงขอตั้งคำถามว่า สาเหตุของการปรับสูตรคำนวณการจ่ายดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด หรือกำลังประสบปัญหาใดในการจัดการการเงิน
ทั้งนี้ คณะ กมธ.การสาธารณสุขและผู้แทนพรรคประชาชนจะบรรจุวาระนี้ในการประชุมคณะ กมธ. โดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 29 ส.ค. 67 เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนส่งผลต่อประชาชนทั้งประเทศที่ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยทางคณะจะแถลงข่าวผลการหารือเป็นระยะ ๆ รวมทั้งจะใช้กลไกอื่นของสภาอย่างเต็มที่ และจะตั้งกระทู้ถาม รมว.สาธารณสุข เมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว และจะมีการอภิปรายรับรองรายงานของ สปสช. รวมทั้งขอให้ทุกคนติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. นี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ ตลอดจนขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยเร็วเพื่อให้การสาธารณสุขมีผู้บริหารที่ชัดเจน ถืออำนาจเต็ม มารับผิดชอบในการแก้ปัญหาสุขภาพของพี่น้องประชาชนอย่างมีทิศทาง โดยห้ามประนีประนอมกับความปลอดภัยของผู้ป่วย มีการปรับปรุงแนวทางการคิดเงินให้ส่งเสริมคุณภาพการบริหาร และเกิดความยั่งยืนของสถานพยาบาลและคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ ท้ายนี้ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยติดตามในประเด็นนี้ หากได้รับผลกระทบสามารถแจ้งมาได้ที่เฟซบุ๊กชื่อ สาธารณสุขประชาชน หรือแจ้งมาที่ สส.พรรคประชาชนในเขตของท่าน